Celeb Online

น้ำ: องค์ประกอบหลักเชิงสัญลักษณ์ในงานศิลปะ

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้ดิฉันขอพาท่านไปชมผลงานศิลปะชิ้นเอกของ โจวานนี ลอเรนโซ แบร์นินี (Giovanni Lorenzo Bernini / ค.ศ. 1598-1680) อัจฉริยศิลปินสมัยบาโรค ผู้สามารถหลอมรวมสถาปัตยกรรมและประติมากรรมเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักหรือเป็นโจทย์สำคัญในการสร้างสรรค์งาน

ศิลปะบาโรค (Baroque) ให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์ผลงานที่นำเอาองค์ประกอบหลากหลายรูปแบบมาผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างมีศิลปะ ซึ่งส่งผลให้สถาปัตยกรรมและประติมากรรมผสานเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ออก องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างงานศิลปะในสมัยบาโรคคือ น้ำ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ให้ทั้งอิสระทางความคิดและจินตนาการอันยิ่งใหญ่และไม่มีที่สิ้นสุดแก่ศิลปินทุกสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำพุของ โจวานนี ลอเรนโซ แบร์นินี สถาปนิก ประติมากร และจิตรกรสมัยบาโรคของอิตาลี แบร์นินี คือผู้เปิดศักราชใหม่ให้กับการออกแบบสร้างน้ำพุในอิตาลีและทุกประเทศในทวีปยุโรป เขาคือศิลปินผู้สร้างความสมบูรณ์แบบให้กับศิลปะบาโรคยุครุ่งเรือง และให้อิทธิพลแก่ประติมากรทั่วทั้งทวีปยุโรป


น้ำพุรูปทรงแปลกพิสดารที่ตั้งอยู่ใจกลางจัตุรัสน้อยใหญ่ทั่วกรุงโรมของแบร์นินีคือการเบ่งบานอีกครั้งของธรรมชาติที่เคยขาดหายไปท่ามกลางความสับสนวุ่นวายและแออัดยัดเยียดของมหานครอันแห้งแล้ง สายน้ำที่ไหลพวยพุ่งออกมาเป็นรูปทรงต่างๆ จากน้ำพุของแบร์นินีไม่เพียงสร้างความงดงามและความบันเทิงใจแก่ผู้ได้ทัศนาเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่มักแฝงความหมายทางสัญลักษณ์ไว้ด้วย ความลับของการกำหนดทิศทาง รูปแบบ และปริมาณการไหลของน้ำพุอยู่ที่การกำหนดแรงดันและความเร็วของน้ำในท่อโดยการคำนวณหาระดับความลาดเอียงของน้ำภายในท่อ รวมทั้งการกำหนดขนาดและการวางตำแหน่งของท่อน้ำด้วย

ดังเช่น น้ำพุแห่งเทพเจ้าไทรตอน (Triton) (ภาพที่ 1 และ 2) ที่ตั้งอยู่บนจัตุรัสบาร์แบรินี (Piazza Barberini) แบร์นินีนำเสนอภาพเทพเจ้าแห่งท้องทะเลและมหาสมุทร โอรสแห่งเทพเจ้าโพไซดอน (Poseidon) ซึ่งมีพระวรกายส่วนบนเป็นมนุษย์แต่ส่วนล่างเป็นปลา กำลังทรงประทับนั่งอยู่บนเปลือกหอยขนาดใหญ่ ที่ถูกยกชูสูงขึ้นด้วยหางของปลาโลมา 4 ตัว เทพเจ้าไทรตอนทรงยกเปลือกหอยทะเลขนาดใหญ่ขึ้นเป่าจนบังเกิดเป็นสายน้ำที่มีรูปทรงคล้าย ดอกลิลลี่พวยพุ่งออกมา (ภาพที่ 3) ดอกลิลลี่เป็นตราสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส พันธมิตรทางการเมืองที่ผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับสันตะปาปาเออร์บานที่ 8 (Urban VIII / ค.ศ. 1568-1644) ผู้ทรงว่าจ้างศิลปินให้ออกแบบสร้างน้ำพุแห่งนี้ ดังนั้น น้ำจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของน้ำพุ ส่วนประติมากรรมได้กลายเป็นเพียงองค์ประกอบรองไป เช่นเดียวกับที่ น้ำพุเทรวิ (Trevi) (ภาพที่ 4 และ 5) ซึ่งออกแบบโดย นิคโคโล ซาลวี (Niccolò Salvi) ได้เปลี่ยนสภาพหน้าคฤหาสน์โปลิ (Palazzo Poli) ให้กลายเป็นน้ำตกจำลองขนาดมหึมาที่เปล่งเสียงดังกึกก้องกังวานไปทั่วทั้งบริเวณ

แบร์นินี คือสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องน้ำเป็นอย่างยิ่ง เขาควบคุมและตรวจสอบแม้กระทั่งรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่ารูปทรงของน้ำที่พวยพุ่งออกมาจะเป็นไปตามที่เขาได้คิดคำนวณไว้ สำหรับ แบร์นินี น้ำคือเครื่องสร้างความสุขสำราญ น้ำคือภาพลักษณ์แห่งการเคลื่อนไหวอันทรงพลัง แนวคิดนี้สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดจากท่าทางการเคลื่อนไหวอันทรงพลังของเทพเจ้าแห่งลำน้ำทั้ง 4 องค์ ซึ่งกำลังประทับนั่งอยู่บนโขดหินล้อมรอบโอเบลิสค์ (Obelisk) จากอียิปต์อันสูงตระหง่านโดยมีมวลน้ำที่ไหลพวยพุ่งเป็นวงโค้งออกมาจากโขดหินช่วยเน้นพลังแห่งการเคลื่อนไหวอันไม่สิ้นสุดของรูปประติมากรรม น้ำพุแห่ง 4 สายธาร (Fountain of the Four River) บนจัตุรัสนาโวนา (Piazza Navona) แห่งกรุงโรม (ภาพที่ 6, 7, 8 9 และ 10) ที่สันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 (Innocent X / ค.ศ. 1574-1665) ทรงว่าจ้างให้แบร์นินี ออกแบบสร้างคือสัญลักษณ์แทนทวีปทั้ง 4 คือ แม่น้ำคงคา (Ganges) แทนทวีปเอเชีย แม่น้ำไนล์ (Nile) แทนทวีปแอฟริกา แม่น้ำริโอเดอลาพลาตา (Rio de la Plata) แทนทวีปอเมริกา ส่วนแม่น้ำดานูบ (Danube) แทนทวีปยุโรป

 ทวีปทั้ง 4 นี้คือดินแดนที่คริสตจักร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกโดยมีโอเบลิสค์เป็นสัญลักษณ์ ส่งมิชชั่นนารีออกไปเผยแพร่คริสต์ศาสนา ยกเว้นทวีปยุโรปที่ประติมากรจงใจใช้แม่น้ำดานูบเป็นสัญลักษณ์แทนดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำนี้ เพื่อสื่อความหมายถึงการแย่งชิงดินแดนคาทอลิกดั้งเดิมกลับคืนมาจากพวกโปรแตสแตนส์ สิ่งที่น่าสังเกตคือ ตามปกติสิ่งที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคริสต์จักรหรือกรุงวาติกัน ซึ่งในที่นี้คือโอเบลิสค์มักจะมียอดเป็นรูปไม้กางเขน อันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของคริสตจักร แต่แบร์นินีกลับใช้รูปนกพิราบอันบริสุทธิ์คาบช่อมะกอก ซึ่งเป็นตราประจำตระกูลแปมฟิลิ (Pamfili) ขององค์สันตะปาปาแทน จารึกที่ปรากฏบนน้ำพุแถลงถึงจุดประสงค์ของสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 ผู้ทรงมีพระบัญชาให้สร้างน้ำพุแห่ง 4 สายธาร ดังนี้ …เพื่อให้ผู้มาเที่ยวชมได้เพลิดเพลิน ผู้กระหายได้ดื่มกิน ผู้ใคร่ตรึกตรองได้ดื่มด่ำในความคิดคำนึง

น้ำพุแห่ง 4 สายธาร บนจัตุรัสนาโวนาของแบร์นินีคือผลงานการสร้างสรรค์งานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของสมัยบาโรค ซึ่งเกิดจากการนำเอาองค์ประกอบที่เป็นน้ำ สถาปัตยกรรม และประติมากรรม มาผสานเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืนและสมบูรณ์แบบ จนบังเกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ศิลปะซึ่งเป็นอิสระไม่ผูกพันกับสิ่งใด และกลายเป็นศูนย์กลางอันมีชีวิตชีวาบนจัตุรัสที่ตั้งอยู่ในใจกลางกรุงโรมจนถึงปัจจุบัน

พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับ น้ำ ที่น่าสนใจ มาเล่าให้แฟนๆ ที่รักทุกท่านได้ฟังอีก อย่าลืมคลิกเข้ามาอ่านต่อในวันพฤหัสบดีหน้านะคะ

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ







รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews