Art Eye View

น้ำ: สัญลักษณ์แห่งความโชติช่วงชัชวาลของพระราชอำนาจแห่งสุริยราชา (1)

Pinterest LinkedIn Tumblr

>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน
(ภาพที่ 1) ภาพพิมพ์มุมสูงของพระราชวัง Versailles
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้ดิฉันจะพาท่านหลบร้อนไปเที่ยว แวร์ซายส์ เมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่แถบชานกรุงปารีส ที่นี่มีสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นพระราชวังอันใหญ่โตโอ่อ่าสง่างามท่ามกลางอุทยานอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา ประดับด้วยไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ อีกทั้งน้ำพุและประติมากรรมขนาดใหญ่มากมายนับไม่ถ้วน ให้เราได้ชมเล่นเป็นขวัญตาและคลายร้อน พระราชวังแวร์ซายส์ คืออีกหนึ่งผลงานขนาดใหญ่บนพื้นพิภพจากปัญญาความสามารถของมนุษย์ ที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักหรือเป็นโจทย์สำคัญในการสร้างสรรค์
(ภาพที่ 2) พระตำหนักใหญ่ในพระราชวังแวร์ซายส์
(ภาพที่ 3) พระตำหนักใหญ่ในพระราชวังแวร์ซายส์
สถาปัตยกรรมของฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV / ค.ศ. 1643-1715) สะท้อนให้เห็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่อยู่เหนือมนุษย์และธรรมชาติ กษัตริย์เป็นประมุขผู้กุมอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองแต่เพียงผู้เดียว สิทธิขาดและอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแต่เพียงผู้เดียวของกษัตริย์ฝรั่งเศสสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดจากคำกล่าวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ว่า L’ Etat c’est moi หรือ “ประเทศชาติคือตัวข้า” โครงการก่อสร้างมากมายหลายโครงการถูกออกแบบอย่างใหญ่โตมโหฬารมากเกินขนาดจนไม่สามารถนำไปก่อสร้างได้ และบางครั้งสถาปนิกก็จำต้องปรับลดความโอ่อ่าหรูหราหรือขนาดอันใหญ่โตมโหฬารลงบ้างเพื่อที่จะสามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ออกแบบไว้ให้สำเร็จ

ตัวอย่างซึ่งถือว่าเป็นแม่แบบและเป็นโครงการก่อสร้างที่ทะเยอทะยานที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดของสถาปัตยกรรมบาโรคในประเทศฝรั่งเศสคือ พระราชวังแวร์ซายส์ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงโปรดให้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชวังสำหรับประทับในฤดูร้อนของพระองค์ พระราชวังแวร์ซายส์เป็นพระบรมมหาราชวังขนาดใหญ่ที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางใหญ่โตมากถึง 7,523 เอเคอร์ หรือ 18,807.50 ไร่ (ภาพที่ 1) พระที่นั่งซึ่งมีรูปแบบเคร่งขรึมและมีการแบ่งพื้นที่หน้าตึกอย่างได้จังหวะงดงาม (ภาพที่ 2 และ 3) ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่เป็นอุทยานขนาดใหญ่ ซึ่งมีการวางแผนผังอย่างเป็นระบบระเบียบ

พระราชอุทยานในพระราชวังแวร์ซายส์ ออกแบบโดย อังเดร เลอ โน๊ตร์ (André Le Nôtre / ค.ศ. 1613-1700) สถาปนิกสาขาการออกแบบจัดสวนฝีมือเยี่ยมของฝรั่งเศส เลอ โน๊ตร์ นำเอาหลักการทางทัศนียวิทยามาใช้ในการออกแบบจัดสวนที่กว้างขวางใหญ่โตนี้ ทางเดินภายในสวนจะถูกตัดเป็นเส้นตรงและวางตัวเป็นแนวยาวเหยียดจนสุดลูกหูลูกตา (ภาพที่ 4) น้ำพุใหญ่น้อย แอ่งน้ำ และประติมากรรมประดับสวนจำนวนมากมาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจอันยิ่งใหญ่ของสุริยราชา จะกระจายอยู่ทั่วทั้งอุทยาน (ภาพที่ 5 และ 6) ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะถูกหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในพระราชอุทยานแห่งนี้
(ภาพที่ 4) ภาพจิตรกรรมมุมสูงของพระราชวัง Versailles
(ภาพที่ 5) บ่อน้ำพุแห่งเทพเจ้าอพอลโล
(ภาพที่ 6) พระราชอุทยานในพระราชวังแวร์ซายส์
การจัดวางแผนผังของอุทยานในพระราชวังแวร์ซายส์จะใช้ตำหนักใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางและจุดศูนย์รวมของทุกเส้นทางที่ตัดตรงจากที่นี่และหวนกลับมารวมตัวกัน ณ ที่จุดนี้อีกครั้ง (ภาพที่ 7) ด้วยเหตุนี้พระราชวังแวร์ซายส์จึงไม่ใช่เป็นเพียงพระราชวังฤดูร้อนที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบัญชาให้สร้างขึ้นเพื่อความสุขสำราญเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนการจัดระบบระเบียบประเทศหรือพื้นพิภพในรูปแบบใหม่โดยมี พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือ สุริยราชา เป็นผู้ปกครองอาณาจักรแห่งนี้ เช่นเดียวกับเทพเจ้าอพอลโล (Apollo) หรือ สุริยเทพ ผู้ทรงเป็นทั้งเทพผู้บันดาลความปรองดองให้แก่โลกและผู้ปกครองเหล่าเทพธิดามิวส์ (Muse) 9 องค์ ผู้บันดาลให้เหล่าศิลปินเกิดแรงดลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

ระเบียงกระจก (The Hall of Mirrors) ที่ออกแบบและตกแต่งอย่างโอ่อ่าสง่างามและหรูหราฟุ่มเฟือยด้วยประติมากรรม จิตรกรรม และลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรพิสดารโดย จูลส์ อาร์ดดูแอง มังซารท์ (Jules Hardouin Mansart) และ เลอ บรัง (Le Brun) (ภาพที่ 8) คือสื่อสะท้อนแนวคิดในการออกแบบอุทยานในพระราชวังแวร์ซายส์ อย่างชัดเจน เพราะเมื่อพระราชาเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระระเบียง สายพระเนตรของพระองค์จะถูกเบี่ยงเบนให้ทอดพระเนตรไปยังบ่อน้ำพุแห่งเทพเจ้าอพอลโล และเลยออกไปยังคลองที่ตัดเป็นเส้นตรงไปสู่ขอบฟ้าที่ไกลลิบอยู่เบื้องหน้า (ภาพที่ 9) สัญลักษณ์แห่งพื้นพิภพที่ถูกจัดระเบียบอย่างเป็นระบบนี้คือโลกแห่งดวงสุริยะและโลกแห่งแสงสว่าง ผนังด้านในของระเบียงกระจกแห่งนี้ถูกกรุด้วยกระจกบานใหญ่ ซึ่งยาวจากพื้นห้องจนเกือบจรดเพดานและเรียงรายเป็นแนวยาวไปทั้งผนัง ส่วนผนังอีกด้านหนึ่งเปิดให้เห็นทัศนียภาพอันงดงามของอุทยานที่อยู่ด้านนอกอาคาร ฉากธรรมชาติอันงดงามในอุทยานที่ประกอบด้วย ท้องฟ้าสีคราม ระลอกคลื่นเล็กๆ บนผิวน้ำที่ส่องประกายระยิบระยับ สีเขียวขจีของหมู่มวลพฤกษชาติ และแสงสีทองอันเจิดจ้าของดวงตะวัน ที่สะท้อนผ่านเข้ามายังภายในพระระเบียง และกลายเป็นภาพสะท้อนบนกระจกที่เรียงรายเป็นแนวยาวจนสุดผนังคือผลแห่งการออกแบบอันชาญฉลาดของสถาปนิก ที่สามารถดึงเอาธรรมชาติด้านนอกเข้ามาหลอมรวมเข้ากับพื้นที่ภายในสถาปัตยกรรม และในทางกลับกันก็เป็นการเชิญชวนให้มนุษย์ออกไปสัมผัสและหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอันสดชื่นรื่นรมย์ในอุทยานด้วยเช่นกัน

พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้ากับตอนที่ 2 ของบทความนี้ และเป็นบทสุดท้ายของบทความชุด น้ำ แรงบันดาลใจอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษยชาติ อย่าลืมคลิกเข้ามาอ่านต่อในวันพฤหัสบดีหน้านะคะ

หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
(ภาพที่ 7) ภาพถ่ายทางอากาศของพระราชวังแวร์ซายส์
(ภาพที่ 8) ระเบียงกระจก (The Hall of Mirrors) ในพระราชวังแวร์ซายส์ ออกแบบโดยมองซารท์ และ เลอ บรัง
(ภาพที่ 9) พระราชอุทยานในพระราชวังแวร์ซายส์
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน

จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม

 จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)

ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück

ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และเด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย

พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน 

พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย

ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD

เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้นจากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี

และ พ.ศ. 2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่าความรู้ที่มีไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ในรั้วสถาบันการศึกษา

ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์  โดย  รองศาสตราจารย์  ดร.กฤษณา หงษ์อุเทน  ได้ทุกอาทิตย์ ทาง  ART EYE VIEW

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It