ART EYE VIEW—บอนด์ดิ้ง 01-02 โซฟาไม้ไผ่ร่วมสมัยที่ผสานเทคนิคการผูกว่าวจุฬาเข้ากับเทคนิคสมัยใหม่ทางด้านอุตสาหกรรม พร้อมได้ฝีมือช่างจักสานดั้งเดิมจากเพชรบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศเงินรางวัล 100,000 บาท จากการประกวดหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ครั้งที่ 2 ของ ศ.ศ.ป.
นางสุพัตรา ศรีสุข ประธานคณะกรรมการการประกวดหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. กล่าวว่า ผลงานที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 ชิ้น ล้วนเป็นผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดภูมิปัญญาไทย โดยนำเอาเทคนิคดั้งเดิมในด้านต่างๆ อาทิ การลงรักปิดทอง การผูกว่าวจุฬา การอัดกระดาษเพื่อทำชฎา หรือการทำหนังตะลุง มาใช้ในผลงานที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งการเชื่อมโยงกันของนักออกแบบรุ่นใหม่กับช่างฝีมือที่มีความชำนาญในเทคนิคดั้งเดิมเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานหัตถกรรมไทย สร้างรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน และเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันในตลาดโลก
“บอนดิ้ง 01-02 ผลงานชนะเลิศการประกวดในครั้งนี้ มีความโดดเด่นจากการนำเอาวัสดุธรรมชาติมาทำให้เป็นงานร่วมสมัย โดยผสมผสานเทคนิคดั้งเดิมคือวิธีการผูกว่าวจุฬา การเหลาไม้ไผ่ด้วยมือ และการสานไม้ไผ่ มาปรับเข้ากับเทคนิคสมัยใหม่เชิงอุตสาหกรรม คือการทำสี การเคลือบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความทนทาน อีกทั้งผู้แข่งขันสามารถผลิตออกมาได้ตรงตามโจทย์แบบครบถ้วน และมีการวางแผนตั้งแต่เริ่มต้นที่เลือกใช้วัสดุจนถึงปลายทางของผลงานว่าจะไปตั้งอยู่ในสถานที่ใด ตลอดจนการวางแผนในเชิงพาณิชย์สามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้”
นายกรกต อารมย์ดี เจ้าของผลงานบอนดิ้ง 01-02 ผู้ชนะเลิศคว้ารางวัลเงินสด 100,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ เล่าเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ว่า ชื่อของผลงานนั้นสื่อถึงการเชื่อมโยงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ด้วยเอกลักษณ์ตนถนัดคือการผูกหรือการมัดแบบว่าวจุฬาซึ่งเป็นเทคนิคดั้งเดิมของตระกูล แต่นำมาดัดแปลงเพื่อใช้กับไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีเสน่ห์ในตัวเอง ทั้งเรื่องความคงทน มีความยืดหยุ่นสูง และสปริงตัวได้ดี
“ผมคิดคอนเซ็ปต์ของบอนดิ้ง 01-02 ให้เป็นโซฟาแบบเลิฟซีต (Love Seat) ที่นั่งได้ 2 คน ผู้นั่งมีความสบายจากรูปทรงของโซฟา สามารถวางแขนบนพนักพิงเพื่อโอบไหล่คู่นั่งได้ตามลักษณะของเลิฟซีต ในขณะเดียวกันโซฟาจะต้องมีความแข็งแรง ทนทาน และด้วยวัสดุที่เป็นไม้ไผ่ทำให้สามารถตั้งไว้ในสถานที่โอเพ่นแอร์ได้ โดนแดดบ้าง รับลมได้เป็นอย่างดี ทนสภาพฝนสาดได้บ้างเป็นครั้งคราว ด้วยความที่ผลงานชิ้นนี้เป็นงานเฟอร์นิเจอร์ชุดแรกที่ลงมือทำ เพราะที่ผ่านมาทำแต่ผลิตภัณฑ์ประดับตบแต่งอาคาร โรงแรม ทำให้ต้องศึกษาพอสมควรเกี่ยวกับความแตกต่างของสรีระชาวตะวันตกและชาวตะวันออก ความสูงของการนั่ง พฤติกรรมการใช้ชีวิต การเข้ามานั่งในล้อบบี้ของโรงแรมว่าจะเลือกนั่งตัวไหน หากเป็นแบบโซฟาเดี่ยวจะเป็นอย่างไร โซฟาคู่จะเป็นอย่างไร แล้วจึงนำสิ่งที่คิดวิเคราะห์เหล่านั้นมาทำแบบตั้งต้น ซึ่งกว่าจะได้โซฟาที่สมบูรณ์อย่างบอนดิ้ง 01-02 นี้ทำไปถึง 3 ตัวเลยทีเดียว
งานหัตถกรรมไทยถือเป็นงานที่มีเรื่องราว เพราะผ่านกระบวนการตั้งแต่การเลือกเฟ้นวัสดุที่มีคุณภาพ การแปลงรูปวัสดุเพื่อนำไปผลิต การเลือกใช้วิธีดูแลรักษาให้วัสดุให้ทนทานต่อมอดและเชื้อราจากภูมิปัญญาชาวบ้าน การใช้กำลังคนในชุมชนที่มีตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ จนถึงรุ่นลูก สิ่งเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านผลงานหนึ่งชิ้น และอยากให้ผู้ที่ได้สัมผัส ได้เห็น หรือได้ใช้ รู้สึกถึงเรื่องราวเหล่านี้เช่นกัน สำหรับรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ รู้สึกดีใจมาก และถือเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยให้มีมูลค่าเพิ่มต่อไป” นายกรกตกล่าว
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.