ART EYE VIEW—“ผมรับไม่ได้กับรัฐบาลชุดนี้มาตั้งนานแล้ว เพราะอิงอยู่กับเสื้อแดงซึ่งแกนนำแต่ละคนก็รู้ๆกันอยู่ว่าพูดและทำอะไรไม่ดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นคนของพรรคเพื่อไทยที่ตกอยู่ภายใต้การสั่งงานของทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่ทำให้ประเทศไทยของเราวุ่นวายอยู่จนถึงทุกวันนี้
ผมไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลหลายอย่าง เช่น การรับจำนำข้าว และไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.แบบเหมาเข่ง คนเผาบ้านเผาเมืองแต่ได้เป็นรัฐมนตรีมีที่ไหนในโลกนี้ที่เค้าทำกัน”
คือเหตุผลที่ จิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน์ ช่างภาพวัย 51 ปี แบกกล้องขึ้นเครื่องทิ้งบ้านทิ้งงานที่หาดใหญ่ มาชั่วคราว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “มหาประชาชน โค่นระบอบทักษิณ”
จิระพงษ์ อดีตลูกชายเจ้าของร้านตัดผม เกิดที่ จ. ตรัง ชอบการถ่ายภาพตั้งแต่เป็น นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รามคำแหง
“ผมเรียนไม่จบ เพราะออกออกมาทำงานเสียก่อน แต่เริ่มชอบถ่ายภาพและถ่ายอย่างจริงจังก็ตอนเป็นนักศึกษานั่นแหล่ะครับ”
เมื่อเบื่องานประจำที่ทำมา13 ปี จึงผันตัวมาทำงานเป็นช่างภาพอิสระและเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการถ่ายภาพตามหน่วยงานต่างๆ
“มีความสุขกว่าตอนทำงานประจำเมื่อก่อน เยอะเลยครับ อยากไปไหนก็ได้ไปไม่ต้องรอวันเสาร์หรืออาทิตย์”
ปัจจุบันจิระพงษ์ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการรับถ่ายภาพ ควบคู่ไปกับการนำเสนอผลงานที่เกิดจากความชอบและแรงบันดาลใจส่วนตัว และปักหลักสร้างครอบครัวอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มากว่า 20 ปี
“ถ้าถ่ายเป็นอาชีพผมถ่ายได้เกือบทุกแนว ตั้งแต่ภาพงานแต่ง , ภาพอีเว้นต์ต่างๆ ,ภาพอาหาร ,ภาพโรงแรม และภาพสนามบิน
แต่ถ้างานที่ถ่ายเป็นงานอดิเรก ผมชอบถ่ายภาพวิถีชีวิตของคนเป็นพิเศษ เพราะผมชอบตรงที่มันท้าทายดีครับ ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะถ่ายภาพคนที่เราไม่รู้จักให้ออกมาดูมีอารมณ์ ทั้งสีหน้า แววตาและท่าทาง
และผมชอบกับการได้พูดคุย ได้สื่อสาร ได้รับรู้ถึงบรรยากาศรอบๆคนที่ถูกผมถ่ายภาพครับ”
ระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จิระพงษ์ พาตัวเองพร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพคู่กายไปปักหลักอยู่ในสถานที่ชุมนุม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ,สะพานพระปิ่นเกล้า และบริเวณหลักสี่
แรกๆที่ถ่าย เขาก็เหมือนกับช่างภาพหลายๆคน ที่พยายามทำให้ภาพที่ออกมา สามารถถ่ายทอดให้เห็นถึง ภาพของมหาประชาชนที่มาชุมนุมกัน
“แต่ตอนหลัง ผมมาคิดว่าทำไมเราต้องถ่ายเหมือนคนอื่น ก็เลยได้เปลี่ยนมุมมองเป็นถ่ายให้เห็นอารมณ์ร่วมของคนแต่ละคนในหลากหลายอิริยาบถ
บางครั้งจุดที่น่าสนใจของภาพอาจไม่ได้อยู่ที่เวทีใหญ่ซึ่งเป็นการยากลำบากที่เราจะแหวกหมู่คนที่เนืองแน่นเข้าไปใกล้ๆเวทีได้ แต่อาจเป็นภาพของวิถีของผู้มาชุมนุมที่อยู่รอบๆบริเวณนั้น เช่นคนขายของ คนนั่งพักผ่อน เป็นต้น”
ภาพที่จิระพงษ์เลือกมาให้เราได้ชมทั้งหมดนี้ เป็นภาพในส่วนที่เขาพยายามเก็บบรรยากาศของผู้มาร่วมชุมนุม ในมุมมองที่พิเศษสำหรับเขา และบางภาพถ่ายได้ในช่วงเวลาที่ธรรมชาติไม่เอื้ออำนวย เช่น ช่วงที่แสงน้อยมาก ขณะบางภาพเป็นการถ่ายท่ามกลางสายฝนพรำ
“อุปสรรคของการถ่ายภาพของผมในครั้งนี้ น่าจะเป็นฝน แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะผมได้ภาพที่ดีๆเพราะฝนตกเยอะแยะครับ
ที่สำคัญผมรู้สึกความประทับใจที่ได้เห็นผู้คนที่มาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ มีสีหน้าที่บ่งบอกถึงการมีความสุข ทุกคนเหมือนเป็นพี่น้องกัน มีอารมณ์และมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
ภาพที่ผมถ่ายมาได้ทั้งหมดถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ครับ ต่อไปอีก10,20 หรือ100ปี ข้างหน้าลูกหลานจะได้รู้ว่า ปี 2556 คนไทยเป็นล้านคนออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาล เพราะภาพถ่ายเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยบอกเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดี
วันหนึ่งผมอาจจะรวบรวมภาพถ่ายมาจัดแสดงแสดงเป็นนิทรรศการภาพถ่ายร่วมกับช่างภาพคนอื่นๆ หรืออาจจำนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งหากทาง ASTV หรือสื่ออื่นๆ ต้องการจะรวบรวมภาพของเหตุการณ์ครั้งนี้ แล้วตีพิมพ์เป็นหนังสือ ผมก็ยินดีที่จะมอบภาพไปให้ตีพิมพ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น”
รู้จักสังเกต,รอคอยและมีความเป็นมิตรกับแบบที่ถูกถ่าย เป็นเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆในการถ่ายภาพของ จิระพงษ์ วงศ์วิวัฒน์
“ผมไม่ค่อยมีเคล็ดลับหรอกครับ แต่เวลาผมถ่ายภาพผมจะหมั่นสังเกตสิ่งที่น่าสนใจ รอ ที่จะจับจังหวะอารมณ์ภาพตรงนั้นให้ได้ ถึงแม้นว่าจะรอนานขนาดไหน นอกจากนี้ สมอง ตาและมือต้องพร้อมสั่งการอยู่เสมอ
ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี ถ้าเราคิดดี พูดดี แล้วเราก็จะได้ภาพที่ดี สุดท้ายคือรอยยิ้มที่เป็นมิตรครับ ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดช่องว่างระหว่างช่างภาพกับแบบได้ครับ”
ไม่แตกต่างกับข้อความที่เขาพยายามสื่อสารกับทุกคน พร้อมด้วยภาพถ่ายหลายๆภาพที่พยายามโพสต์ให้ชมผ่านโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
“เป็นช่างภาพต้องรู้จักรอเป็นครับ… เมื่อวานนี้ขณะที่ฝนกำลังตกอย่างหนักผมเลยย้ายตัวเองมาอยู่ที่ภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่ตั้งเรียงรายอยู่ในเต้นท์ผู้ชุมนุมและสะดุดตากับภาพนี้ ผมยืนอยู่ตรงนี้นานนับชั่วโมงโดยไม่ได้ไปตรงไหนต่อก็เพื่อที่จะรอให้มีภาพในใจที่ผมอยากให้มีที่ตรงนี้ แล้วภาพในใจของผมก็มาครับ คุ้มค่าแห่งการ “รอ”. …..^*^ ยินดี และอนุญาตให้แชร์ได้นะครับ”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.