ART EYE VIEW—หลังจากที่ ศุภโชค อังคสุวรรณศิริ นักสะสมงานศิลปะและเจ้าของ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ (Subhashok The Arts Centre) ได้มีโอกาสกับร่วมงานของสถานทูตฝรั่งเศส และบอกเล่าว่าท่านทูตได้เห็นถึงความตั้งใจของเขาในการสนับสนุนวงการศิลปะไทย
จึงได้แนะนำให้ได้รู้จักกับ โลรองต์ เดอ พาส Art Dealer ชาวฝรั่งเศสผู้คลุกคลีอยู่ในตลาดศิลปะระดับโลกมากกว่า 20 ปี และโลรองต์ ก็ได้แนะให้เขารู้จักกับ โจแอล และอาร์แมล โคเฮน เจ้าของ Adler Gallery Paris ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อติดต่อและพูดคุยกันอยู่หลายครั้ง จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันเพื่อเปิดตลาดซื้อขายงานศิลปะ และปั้นศิลปินไทยสู่ตลาดโลก
โดยเร็วนี้ จะมีผลงานของศิลปินไทยกลุ่มแรก จำนวน 9 คน ถูกส่งไปชิมลาง ณ Paris Art Fair 2014 ประเทศฝรั่งเศส ในนาม แอดเลอร์ ศุภโชค แกลเลอรี่(Adler Subhashok Gallery)
Adler Subhashok Gallery ปั้นศิลปินไทยสู่ตลาดศิลปะโลก
ในวันเซ็นสัญญาร่วมมือกัน และ Grand Opening ให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับบทบาทของ Adler Subhashok Gallery ที่จะส่งผลต่อวงการศิลปะของไทยในอนาคต
ศุภโชค เปิดใจว่า ทั้งเขาและหุ้นส่วน 3 คนจากเมืองน้ำหอม (ซึ่งมีประสบการณ์ในสร้างตลาดศิลปะในประเทศจีนให้คึกคักขึ้นมาก่อนหน้านี้)
เห็นพ้องต้องกันว่า มีผลงานของศิลปินไทยจำนวนมากที่มีคุณภาพและสามารถผลักดันให้ไปสู่ตลาดศิลปะในระดับโลกได้ และมั่นใจว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ทุกคนจะได้เห็นการเติบโตของศิลปินไทยในตลาดศิลปะระดับโลก เพราะได้เข้าไปสู่ระบบการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล
“แกลเลอรี่ก็เปรียบเหมือนคนที่ทำการตลาดให้กับศิลปิน ถ้าหากว่าศิลปินจะต้องเอาเวลาทั้งหมดมาทำการตลาดเอง สร้างระบบเอง สร้างความเชื่อมั่น และคิดงานศิลปะไปด้วย ผมคิดว่ามันไม่สามารถทำได้ในคนๆเดียว เราจะต้องมีระบบที่ถูกต้อง มีความเข้าใจในตลาด ว่าสิ่งที่ตลาดต้องการคืออะไร ศิลปินแต่ละคนมีความเด่น มีความถนัดอะไร ซึ่งระบบที่มีมาตรฐานของจะช่วยดึงศักยภาพตรงนั้นของศิลปินออกมานำเสนอ”
อย่างไรก็ตามก่อนที่ผลงานของศิลปินไทยจะเข้าไปสู่ระบบการจัดการที่มีมาตรฐานและไปยืนอยู่ในตลาดโลกได้อย่างสง่างามอย่างแท้จริง ศุภโชคยังเชื่อว่า สิ่งสำคัญในเบื้องต้นต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของชิ้นงานให้มีมาตรฐาน และเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิดและตัวตนของศิลปินอย่างแท้จริง ไม่ใช่ลอกเลียนมา
“เราต้องมีการปรับปรุงคุณภาพของชิ้นงานให้ได้มาตรฐานของสากล ทั้งเรื่องของเฟรม ผ้าใบและ สี ที่ใช้เขียนภาพ และสิ่งสำคัญผมคิดว่า งานศิลปะต้องออกมาจากจิตใจ จากแนวคิดและจากตัวตน ของศิลปินจริงๆ ไม่ลอกเลียนจากใครมา แล้วเอามาเป็นตัวตนของเขาเอง ผมคิดว่าแบบนั้นมันเป็นการฆ่าตัวตาย และคิดว่าถ้าศิลปินมีความกล้าหาญเขาสามารถที่จะสร้างงานที่แสดงถึงตัวตนของเขาได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้”
ด้านหุ้นส่วน 3 คน จากเมืองน้ำหอมบอกถึงสถานการณ์ของตลาดศิลปะทั่วโลกในขณะนี้ และเหตุผลที่สนใจร่วมมือกับ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ ผลักดันผลงานศิลปินไทยสู่ตลาดโลกว่า
ขณะนี้ตลาดศิลปะกำลังเติบโตดีมากๆและในทุกๆที่ ยกตัวอย่างตลาดศิลปะของฮ่องกงที่เติบโตขึ้นถึง 38 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลงานของศิลปินไทยก็มีคุณภาพไม่ได้แพ้ต่างชาติ ดังนั้นสามารถเติบโตได้อย่างแน่นอน ขอเพียงศิลปินให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานดังที่คุณศุภโชคกล่าว และมีวิธีการนำเสนอผลงาน ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงนักสะสมศิลปะได้ จนก่อให้เกิดความชื่นชอบและอยากครอบครองผลงานในที่สุด
“การร่วมมือกับทางไทยครั้งนี้ เราไม่เริ่มจากการสร้างศิลปิน เพราะศิลปินมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง ผลงานดีๆของศิลปินไทยไปสู่นักสะสม จะเห็นได้จากที่ผ่านมา แอดเลอร์ได้มีส่วนทำให้ผลงานของศิลปินหลากหลายคนไปเติบโตไปในประเทศต่างๆทั่วโลก และได้สร้างกำไรมหาศาลและความมีชื่อเสียงให้กับผลงานของพวกเขา
ศิลปะไทยมีเอกลักษณ์ ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งอินเดีย จีน และเขมร ถือเป็นความผสมผสานที่ลงตัว และด้วยความที่ไทยเป็นชาติที่มีอิสระก็ส่งผลไปถึงผลงานในเวลาที่ศิลปินนำเสนอออกมาด้วยเช่นกัน”
35 ปีที่รอคอย ของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
ในงานวัน Grand Opening ยังจัดให้มีเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาผลงานของศิลปินไทยสู่การเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกและการลงทุนในงานศิลปะรวยได้ยังไง?” จึงทำให้ได้ทราบถึงทัศนะของศิลปินหลายท่านที่มีต่อการเกิดขึ้นของ Adler Subhashok Gallery
เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลปฺ(จิตรกรรม) ปี 2554 กล่าวว่า ตนเองรอคอยวันนี้มาถึง 35 ปี วันที่จะมีระบบที่มีมาตรฐานเข้ามาบริหารจัดการให้ศิลปินไทย
ที่ผ่านมาเพื่อพาตัวเองไปสู่ตลาดโลก ศิลปินส่วนหนึ่งต้องฝ่าฝันเอง แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการนำงานศิลปะไปเร่ขาย ขณะที่นักสะสมงานศิลปะในประเทศไทย แม้จะมีเยอะ แต่ก็ไม่ได้จริงจังกับการพัฒนาวงการศิลปะ
“ซื้อรูปแล้วเอาไปติดบ้าน ติดบริษัท ติดแบงค์ ติดทุกที่ แต่ไม่คิดว่าเราจะทำยังไงให้งานศิลปะได้เข้าไปสู่ตลาดของวงการศิลปะที่มีมูลค่ามหาศาล
ทำให้วงการศิลปะของเราอยู่กับที่ ค้าขายอยู่แค่ในวงเดียว ใครขายเก่งก็รวย พี่หวัน(ถวัลย์ ดัชนี) หรือ เฉลิมชัย ขายเก่งก็รวย หยุดนิ่งอยู่แค่นั้น ใครที่ขายไม่เก่งก็ไม่รวย เพราะไม่มีใครขายให้มัน
ดังนั้นที่ผ่านมา การไปขายในตลาดโลกเราขายไม่ได้ และเราหาบเร่ขายเองตลอดมา จนศิลปินหลายรุ่นตายห่าไปหมดแล้วตั้งเยอะแยะ บ้างไปหาบเร่ขายอยู่ในยุโรป แม้แต่ผมก็เคยหาบเร่ ซึ่งการหาบเร่เช่นนั้นมันไม่ใช่การสร้างชาติ เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น เดินทางไปแสดงส่วนตัว ขายรูปได้บ้าง 3-4 รูปแล้วกลับบ้าน แต่ไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ อย่างเก่งคนจัดให้เขาก็เชิญนายแบงค์มาชมงานที่เรานำไปแสดง ในสถานที่ของเขา เป็นแกลเลอรี่เล็กๆ เอาคนของสถานทูตมาเปิดให้เรา มันก็แค่นั้น เราไม่มีโอกาสที่จะมีแกลเลอรี่ใหญ่แบบแอดเลอร์มาขายงานให้เราอย่างกว้างขวาง และนำไปขายทั่วโลก”
สิ่งที่เฉลิมสะท้อนเป็นปัญหาที่ชัดเจนมาก ณ ขณะนี้ของตลาดศิลปะไทย และถึงเวลาที่ต้องพาขึ้นจากหล่มที่ติดมานาน ในทัศนะของศิลปินภาพถ่าย มานิต ศรีวานิชภูมิ
“วันก่อนผมแวะไปที่เดอะสีลม แกลเลอเลีย คุณกับน้องที่แกลเลอรี่ข้างบน ดูสภาพแล้ว ลุ่มๆดอนๆ เขาบอกว่าตลาดศิลปะไทย มันไม่โต นักสะสมก็ซ้ำหน้ากันอยู่อย่างนี้ ขณะที่นักสะสมของจีนเกิดใหม่ตลอดเวลา ศิลปินจีนก็เกิด เป็นการเติบโตที่คู่ขนานกันไป โตด้วยกันทั้งหมดทั้งวงการ ซึ่งอันนี้ผมอยากเห็น
สังคมไทยเหมือนติดหล่มอะไรสักอย่างและวันนี้เป็นอีกก้าวที่เราจะออกจากหล่ม และอยากให้กำลังใจคุณศุภโชคที่จะเดินออกจากหล่มนี้แล้วผลักดันให้นักสะสมคนอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะสนับสนุนวงการศิลปะไทย ผมอยากเห็นสิ่งที่จะเติบโตขึ้น ที่พูดนี้ก็ไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะร่ำรวยจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มันไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นเรื่องที่เราต้องมองสังคมทั้งหมดเป็นวงกว้าง
สิ่งที่ศิลปินทำมันมีคุณค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่มันไม่ปรากฏเป็นจริงในทางโลก เราจะทำยังไงให้มันปรากฏเป็นจริงในทางโลก ซึ่งมันต้องอาศัยระบบอย่างที่คุณศุภโชคกับแอดเลอร์พยายามทำ เพื่อทำให้เกิดเป็นมูลค่าที่แท้จริงและเป็นสิ่งที่ผมหวังว่ามันจะเกิดขึ้น
และเท่าที่มานิตได้ไปสัมผัสตลาดศิลปะทั้ง Art Fair และเบียนนาเล่ ในหลายประเทศ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ที่เรามองว่ายากจนกว่า แต่ Art Fair ที่ผ่านการจัดมาเพียง 2 ครั้ง ผลงานศิลปะขายหมดเกลี้ยงและผู้ซื้อก็เป็นคนในประเทศอีกด้วย ขณะที่ตลาดศิลปะของอินโดนีเซียเติบโตเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนสิงคโปร์แม้จะไม่ค่อยมีอะไรที่แสดงถึงรากเหง้าของตนเอง แต่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านศิลปวัฒนธรรม
“มี Museum หลายแห่งที่จะเกิดขึ้น และระดับใหญ่มาก ใช้สถาปนิกที่ออกแบบเป็นชาวฝรั่งเศส และเขาก็ต้องการงานศิลปะเข้าไปเก็บ อันนี้คือโอกาสของศิลปินไทยเหมือนกัน แต่แน่นอนคือ เขาเก็บในฐานะที่เขามองว่าเขาคือเซ็นเตอร์ ผู้นำของเขามีวิสัยทัศน์ต่อประเทศของเขาเอง
อันนี้คือสิ่งที่น่าเศร้าว่าประเทศเรามีผู้นำที่เป็นมหาเศรษฐีด้วย แต่ไม่มีวิสัยทัศน์ว่าเราจะทำให้ประเทศไทยของเราร่ำรวยไปได้อย่างไร นอกจากไปเที่ยวโกงกินภาษีของประชาชน คือมันเป็นเรื่องที่ห่วยแตกมาก ผู้นำประเทศแม่งคิดได้อย่างเดียวว่าจะทำยังไง ถึงจะดูดเงินภาษีของประชาชนผ่านระบบผันเงิน ผ่านโครงการโกงกินต่างๆ ผมคิดว่ามันน่าละอาย เราไม่คิดว่าจะทำยังไงให้ประเทศนี้มันร่ำรวยขึ้นมา มีเงินเป็นหมื่นล้านแต่ไม่ซื้องานศิลปะ อันนี้คือสิ่งที่เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก”
ศิลปินกินข้าว และข้าวเน่าไม่กิน
ไมเคิล เชาวนาศัย ศิลปินอิสระ/ผู้กำกับ/นักแสดง ระยะเวลา 15 ปีที่อยู่ในวงการศิลปะเขามองว่า ศักยภาพของศิลปินไทยสูงขึ้น แต่ยังไม่รู้ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก
“การโปรโมทตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะครับ เพราะว่าทุกคนต้องกินข้าวกันทุกคน และที่คุณมานิตพูดว่า ผมไม่สนใจว่าผมจะรวยหรือเปล่านั้น แต่ผมสนใจนะครับว่าผมจะรวยหรือเปล่า เพราะผมหิวข้าวมากเลย ศิลปินไม่ได้กินสี กินชอล์คนะครับ แต่กินข้าว และข้าวเน่าก็ไม่กินนะครับ”
ดังนั้นการเข้ามาบริหารจัดการของระบบที่มีมาตรฐานครั้งนี้ ก็เหมือนกับการปลูกข้าววันนี้ เพื่อจะได้กินอิ่มในวันหน้า
“ต้องเริ่มปลูกวันนี้ แม้เราจะกินวันนี้ไม่ได้ แต่ปลูกวันนี้ เราจะกินพรุ่งนี้
ศิลปินที่เก่งๆ ทั่วโลก ทุกวันนี้ไม่ได้อยู่บ้านตัวเองหรอก โดนคนอื่นเอาไปเลี้ยง ศิลปินไทยหลายท่านอยู่ที่เบอร์ลิน อยู่ที่นิวยอร์ก ดังนั้นขอบคุณศุภโชคมากเลยที่เห็นความสำคัญของศิลปินไทยหลายๆท่าน ในอนาคตจะเป็นอย่างไรเราคาดเดาไม่ได้ แต่ว่าเราก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป”
ปี๊บ – รวิชญ์ เทิดวงศ์ แม้เราจะรู้จักเขาเป็นอย่างดีในบทบาทของนักแสดง แต่ด้านหนึ่งก็เป็นคนทำงานศิลปะและเป็นอาจารย์สอนทางด้านนี้ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผลงานศิลปะของศิลปินไทยจะเข้าไปสู่ระบบที่เป็นมาตรฐานสากล และเห็นว่ากรณีของศิลปินที่ในระยะเริ่มแรกพึ่งพาระบบ ผ่านไปวันหนึ่งศืลปืนมีชื่อเสียงแล้วคิดขายงานเอง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้ไม่เติบโตในระยะยาว ไม่แตกต่างจากดารานักแสดง
“เมื่อก่อนเป็นนายแบบ เป็นดารา มีเอเจนซี่ สักพักดังก็รับงานเอง เรื่องอะไรจะให้เอเจนซี่รับให้ เหมือนกับศิลปินไทยในตอนนี้เลย
ผมว่า โลกมันแคบลงจากแต่ก่อนที่ไม่มีอินเตอร์เนท ไม่มีเฟสบุ๊ค คุณจะไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว บินไปแป๊ปเดียวก็ถึงประเทศโน้นประเทศนี้กันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นทำตามมาตรฐานผมว่าดีแล้ว เราจะได้ออกสู่สากลในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของศิลปะ และผมเชื่อว่ามันจะส่งผลถึงทิศทางการทำงานศิลปะของไทย”
9 ศิลปินชิมลาง Paris Art Fair 2014
ทั้งมานิตและไมเคิล คือ 2 ใน 9 ศิลปินที่จะมีผลงานไปชิมลางใน Paris Art Fair 2014 ซึ่งอีก 7 คนเป็นศิลปินรุ่นใหม่ ได้แก่ กิติคุณ หมั่นกิจ,ประดิษฐ์ ตั้งประสาทวงศ์,พัชรพงษ์ มีศิลป์,ลำพู กันเสนาะ,เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์,พลุตม์ มารอด และศิลาวิศว์ พูลสวัสดิ์
ซึ่งขณะนี้ผลงานของมานิต ชุด น้ำเงิน(BlueStory) และผลงานของไมเคิลและศิลปินทั้ง 7 คน ชุด Moi/Soi ได้ถูกนำมาจัดแสดงให้ชม ณ Adler Subhashok Gallery ซอยสุขุมวิท 33
เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ ซึ่งที่ผ่านมาค่อนข้างโชคดี ที่สามารถเลือกทำงานศิลปะได้เต็มเวลา เพราะเคยได้รับรางวัลจากเวทีประกวดศิลปะหลายครั้ง นับแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษาและเมื่อจบมา ทุกครั้งที่จัดแสดงผลงานก็มีนักสะสมติดตามและให้การสนับสนุนในระดับหนึ่ง อีกทั้งผลงานเคยถูกส่งไปประมูลในต่างประเทศมาบ้าง เนื่องจากมีแกลเลอรี่บางแห่งเข้ามาบริหารจัดการให้
กล่าวว่าปัญหาในการทำงานศิลปะของศิลปินไทย นอกจากเรื่องทุน ก็คือเรื่องของการบริหารจัดการ ยังมีศิลปินที่เก่งๆอีกจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือในส่วนนี้
“ ผมโชคดีที่มีคนสะสมงาน การทำงานของเรามันก็เลยเดินต่อไปได้ ขณะที่บางคนเก่งมากเลย แต่ไม่มีเรื่องทุน เพราะเรื่องปากท้องก็เป็นสิ่งสำคัญ จนทำให้บางคนมีความจำเป็นต้องเลิกทำศิลปะไปเลย
ดังนั้นมันสำคัญถ้าจะมีคนมาช่วยโปรโมทงานซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างมีคุณค่าด้วยตัวศิลปินเอง ให้ดูดีขึ้นได้ และสามารถขายได้ด้วย
สองส่วนจะได้เติบโตไปด้วยกัน คือ งานเขายได้ และไปสู่สายตาคนในวงกว้างมากขึ้น เพราะเราก็อยากรู้ว่าเสียงตอบรับจากคนต่างประเทศที่มีต่องานของเรา เป็นอย่างไร”
Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews