Celeb Online

เรนโบว์ รูม จัดนิทรรศการภาพถ่ายโบราณ ฉลองวันดาวน์ซินโดรมและวันออทิสซึมโลก


มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม ศูนย์ความเข้าใจเชิงบวกเกี่ยวกับความต้องการพิเศษแห่งแรกในประเทศไทย ร่วมกับอาร์ตคอนเนคชั่น โดยการสนับสนุนของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และโนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดตัวนิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจกเปียก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะเพื่อความแตกต่าง Language of The Soul ภาษาแห่งจิตวิญญาณ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด “Co-Labs:The Collaboration ร่วมกัน …สรรค์สร้าง” โดยมีท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ให้เกียรติเปิดงานและชมนิทรรศการ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมเพื่อฉลองวันดาวน์ซินโดรมโลก ในวันที่ 21 มีนาคม และวันออทิสซึมโลก ในวันที่ 2 เมษายน 2565

“Co-Labs: The Collaboration ร่วมกัน…สรรค์สร้าง” เป็นนิทรรศการศิลปะเพื่อความแตกต่าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและความสามารถของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานจากการร่วมมือกัน ของศิลปินมืออาชีพในต่างสาขา และศิลปินผู้มีความต้องการพิเศษที่เข้าร่วมโครงการ


โรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แม็คเคย์ ประธานมูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม กล่าวว่า “นิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียนของศิลปินผู้มีความต้องการพิเศษ 10 คน ในโครงการภาษาแห่งจิตวิญญาณ โดยศิลปินช่างภาพสารคดีชาวฟิลิปปินส์ นิโก้ เซเป้ นั้น นับได้ว่าเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-ฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่ง และยังเป็นการเฉลิมฉลองศักยภาพและความทุ่มเทของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัวของพวกเขา โดยผ่านการร่วมมือในกระบวนการสร้างสรรค์ของการถ่ายภาพที่มีความพิเศษเฉพาะตัวอีกด้วย”


“การร่วมมือของศิลปินที่ทำงานในด้านต่าง ๆ นั้น นับเป็นการขยายผลทางศิลปวัฒนธรรมที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำมาซึ่งนวัตกรรมทางศิลปะที่น่าสนใจ ในนิทรรศการชุดนี้ การใช้กระบวนการถ่ายภาพฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ถ่ายภาพของศิลปินที่มีความต้องการพิเศษแบบร่วมสมัย เป็นการยืนยันถึงปฏิญญาของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมโอกาสและบทบาทในการแสดงออกทางศิลปะอย่างทั่วถึงโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสำคัญ” ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รองประธานมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าว


ประคำกรอง พงษ์ไพบูลย์ วชิรวรภักดิ์ ตัวแทนอาร์ตคอนเนคชั่นและภัณฑารักษ์ของโครงการ กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการชุดนี้ว่า “ภาพถ่ายเป็นการบันทึกช่วงเวลาของชีวิต เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำที่มีความหมาย เมื่อคนเราไม่สามารถเก็บทุกความทรงจำในชีวิตได้ การเลือกจึงเกิดขึ้นอย่างละเอียดละออด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ความละเอียดละออนี้เองก็ถูกถ่ายทอดในกระบวนการการถ่ายภาพฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียน ตั้งแต่การวางแผนจนถึงการพิมพ์ภาพ ขั้นตอนต่าง ๆ มีธรรมชาติเป็นตัวแปรสำคัญเหนือการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าของใบหน้าที่กำลังถูกบันทึกลงใปอย่างถาวรบนแผ่นกระจกนั้น ก็มีความท้าทายที่ไม่อาจคาดเดาได้ ใบหน้าเหล่านี้บอกอะไรเราบ้าง เราจะจดจำพวกเขาอย่างไร เขาเป็นตัวแทนของอะไรในความทรงจำของเรา เขาคือโลกของเรา สังคมของเรา อยู่ตรงนี้ต่อหน้าเรา ทั้งในความทรงจำที่เรามีต่อกันและกันและในอนาคตที่เราจะสร้างไปพร้อม ๆ กัน”


เมื่อถามถึงเบื้องหลังของงานสร้างสรรค์ชุดนี้ นิโก้ เซเป้ ศิลปินช่างภาพสารคดีชาวฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “บุคคลที่อยู่ในภาพถ่ายในนิทรรศการนี้ทุกคนเป็นศิลปิน การที่จะร่วมมือกับช่างภาพในกระบวนการที่ไม่คุ้นชิน เป็นสถานการณ์ที่ศิลปินเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วยังไม่เคยเผชิญ การที่จะถูกขอให้นั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลา 10 วินาที ท่ามกลางแสงไฟสว่างจ้าเป็นประสบการณ์ใหม่ กระบวนการถ่ายภาพฟิล์มกระจกโคโลเดียนเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและมีขั้นตอนซับซ้อน การก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้จึงถือได้ว่าเป็นความสำเร็จทางศิลปะ งานนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการสร้างสรรค์เพื่อบุคคลที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัวที่ดูแลสนับสนุนพวกเขาด้วยความรัก นี่ไม่ใช่การบันทึก “ความงาม” อย่างผิวเผิน แต่เป็นความงามบริสุทธิ์ที่ปราศจากการปรุงแต่ง ผลลัพธ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ของกระบวนการถ่ายภาพฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียนที่เรียกว่า “แอมโบรไทพ์” และความไม่สมบูรณ์แบบของภาพ สะท้อนถึงตัวตนที่แตกต่างของศิลปินทุกคนที่ร่วมโครงการนี้”


งานนิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียนโดย นิโก้ เซเป้ ศิลปินภาพถ่ายสารคดีชาวฟิลิปปินส์ และ 10 ศิลปินผู้มีความต้องการพิเศษนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “Language of The Soul ภาษาแห่งจิตวิญญาณครั้งที่ 4 Co-Labs: The Collaboration ร่วมกัน…สรรค์สร้าง” นิทรรศการศิลปะเพื่อความแตกต่าง ในลักษณะโปรเจกต์กึ่งทดลองร่วมกันของศิลปินมืออาชีพและศิลปินผู้มีความต้องการพิเศษ


นอกจากนิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจกเปียกโคโลเดียนแล้ว นิทรรศการนี้ยังมีอีกสองส่วน คือ การจัดวางงานจากการร่วมมือสร้างสรรค์ที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งการตีความ รูปแบบ และสีสัน ระหว่าง เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ศิลปินสิ่งทอร่วมสมัยระดับแนวหน้าของประเทศไทย และซัน ไกรลาศ สกุลดิษฐ์ ศิลปินผ้าทอผู้มีความต้องการพิเศษ และ


อีกส่วนเป็นผลงานการสร้างสรรค์โดยวิชุลดา ปัญฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เปลี่ยนขยะให้เป็นงานศิลปะ ซึ่งได้นำเอาบทกวีของกวีแรคคูณข้างเดียว มาสร้างเป็นงานประติมากรรมแห่งจินตนาการ โดยมีคณะหุ่นเจ้าขุนทอง ร่วมออกแบบการเคลื่อนไหว โดยอีกสองการจัดวางนั้นจะเริ่มเปิดแสดงในวันที่ 29 มีนาคม – 24 เมษายน 2565 นี้ บริเวณชั้น L ของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร