Art Eye View

“ไม่มีใครขอร้องให้ผมทำหอศิลป์” วินัย ปราบริปู ผู้ก่อตั้ง “หอศิลป์ริมน่าน”

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEWวันแรกของปี 2558 หลายคนเลือกวางชีวิตของตัวเองไว้ที่ “หอศิลป์ริมน่าน”

หอศิลป์ซึ่งก่อตั้งโดย วินัย ปราบริปู ศิลปินผู้เป็นชาว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ที่หลายปีก่อนตัดสินใจที่ซื้อที่ดินหลายไร่ติดแม่น้ำน่าน บนถนนน่าน -ทุ่งช้าง ด้วยความตั้งใจจะทำเป็นบ้านและสตูดิโอทำงานศิลปะ หลังจากที่เคยชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มานาน และอยากจะกลับมาปักหลักที่บ้านเกิด

แต่ท้ายที่สุดพื้นที่ซึ่งเคยตั้งใจให้เป็นเพียงฐานประจำการชีวิตและสถานที่ทำงาน

ได้ขยับขยายมาสู่การเป็น “หอศิลป์” ที่เปิดโอกาสให้ทั้งคนคุ้นเคยและแขกแปลกหน้าได้แวะไปเยือน มาเป็นเวลาหลายปี

“ผมไปอยู่กรุงเทพฯ นาน ตั้งแต่ไปเรียนเพาะช่าง ประมาณปี พ.ศ.2516

จนกระทั่งปี พ.ศ.2540 เริ่มกลับมาบ้านเกิดบ่อยครั้ง และมีความคิดว่าน่าจะมาปักหลักอยู่ที่น่าน ก็เลยมาซื้อที่ตรงนี้

จริงๆไม่มีความตั้งใจในการทำหอศิลป์ เพื่อชวนคนมาเที่ยวชมงานศิลปะ แค่อยากจะทำบ้าน ทำสตูดิโอไว้แขวนรูปของตัวเอง จากนั้นจึงค่อยมีการติดป้ายบอกให้คนมาเที่ยวทีหลัง”


สร้างสิ่งแวดล้อมด้านศิลปะร่วมสมัยให้คนเมืองน่าน

สิ่งที่ทำให้ภาพของหอศิลป์ซึ่งไม่เคยมีอยู่ในหัวมาก่อน เริ่มชัดเจนขึ้น วินัยเล่าว่า เป็นเพราะเมื่อได้สำรวจเงินที่มีอยู่ในบัญชี รวมไปถึงประสบการณ์ในงานก่อสร้าง ที่ทำให้มั่นใจว่าสามารถทำอาคารใหญ่ ๆขึ้นมาได้ และประสบการณ์ที่ได้ไปเห็นเมืองใหญ่ๆในต่างๆประเทศ โดยเฉพาะทางยุโรป ที่มีมิวเซียมให้ประชาชนเข้าไปชมงานศิลปะ แม้แต่เมืองเล็กๆ ก็สามารถทำได้

“ผมก็เลยคิดว่า ถ้าทำหอศิลป์ขึ้นมา เด็กในพื้นที่จะได้มีโอกาสมาดูงานศิลปะร่วมสมัยที่เป็นงานออริจินอล หรืองานต้นแบบ เพราะว่าคนต่างจังหวัดไม่ค่อยมีโอกาสได้ดู

และวางแผนไว้ว่า ถ้าไม่มีศิลปินคนอื่นสนใจนำงานมาแสดง เนื่องจากมองว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงในการขนย้ายงาน หรือมองว่าหอศิลป์เราอยู่ไกล และเป็นพื้นที่ไม่น่าสนใจ มาแสดงแล้วไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร

ผมก็คิดไว้แค่ว่าจะแสดงผลงานของตัวเองก็ได้ เหมือนคนจะทำร้านอาหาร ไม่ต้องจ้างพ่อครัว เพราะตัวเองก็เป็นพ่อครัวได้”

แต่ความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน ในวันที่หอศิลป์ฯมีอายุครบ 10 ปี พบว่ามีงานศิลปะจัดแสดงให้ชมเต็มทุกพื้นที่

“เพราะตอนนี้มันผ่านไป 10 ปีแล้วนี่ครับ แต่ก่อนหน้านั้นมันก็ลำบากอยู่ เพราะว่างานศิลปะร่วมสมัยเนี่ย โดยเฉพาะกับเมืองเล็กๆ มันไม่มีประชาชนที่สนใจมากพอ อีกทั้งหอศิลป์ตั้งอยู่นอกเมืองอีก และที่น่านก็ไม่มีสถาบันสอนศิลปะใดๆตั้งอยู่ พอที่จะเป็นต้นทุนทางด้านนี้

แม้เราจะมีงานศิลปะที่มีชื่อเสียงที่คนโบราณฝากไว้ แต่งานศิลปะพวกนี้ก็อยู่ในวัดไงครับ ไม่เฉพาะแต่เมืองน่าน หลายๆที่ก็มีงานศิลปะที่อยู่ในวัด ทั้งจิตรกรรมฝาผนัง งานแกะสลักสวยๆ แทบจะมีทุกที่ในประเทศไทย เพียงแต่จะมีอะไรสำคัญแค่ไหน หรือยังไม่มีใครหยิบมาพูดถึงแค่นั้น

แต่งานศิลปะร่วมสมัย ก่อนหน้านี้ สิ่งที่คนรู้จักมีอย่างเดียวคือ คัทเอาท์หนัง เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว คัทเอาท์หนังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนอยากเรียนศิลปะ เพราะยังไม่มีงานออริจินอลเพ้นท์ติ้งหรืองานศิลปะต้นแบบมาเป็นแรงกระตุ้น มันมาจากสิ่งแวดล้อมอย่างคัทเอาท์หนังมากกว่า

ผมก็เช่นเดียวกัน แรงกระตุ้นที่ทำให้อยากเรียนศิลปะมาจากสิ่งแวดล้อมที่ว่า ต่อมาพอเราไปเห็นว่าในยุโรปเขามี สิ่งแวดล้อมด้านงานศิลปะร่วมสมัย งานศิลปะเขาเจริญ ทำให้คนเข้าถึง โดยการมีหอศิลป์ เราก็เลยอยากจะทำบ้าง เพื่อให้เด็กเล็กๆที่มากับพ่อแม่ได้สัมผัส และเกิดแรงกระตุ้น แรงสนใจเพิ่มมากขึ้นๆ ในที่สุด รู้ว่าตัวเองชอบ และทำงานศิลปะได้ ก็จะสอบเข้าเรียนศิลปะ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ที่จะทำให้กลายเป็นศิลปินในอนาคต”



ไม่มีใครขอร้องให้ผมทำหอศิลป์

ทั้งที่อยู่ในสถานะที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยการการทำงานศิลปะอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องมาวุ่นวายกับการจัดการหอศิลป์อันเป็นการเพิ่มภาระให้ตัวเองมากขึ้น แต่เมื่อเลือกที่จะทำควบคู่กันไป วินัยได้บอกเล่าให้ฟังถึงความทุกข์ของศิลปินคนหนึ่งที่ลุกมาทำหอศิลป์ ซึ่งสำหรับเขามองว่าไม่ได้เป็นความทุกข์เสียทีเดียว เนื่องจากไม่ได้คาดหวังเอาไว้มากมายตั้งแต่แรก

“คนที่ทำหอศิลป์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือคนรักศิลปะ
ความทุกข์อยู่อย่างหนึ่งก็คือคิดว่าประชาชนจะเข้ามาดูไหม

ถ้าเราวางเป้าหมายไว้แต่แรก ต้องทำให้คนเข้ามาดูงานศิลปะที่ตัวเองมีอยู่ให้ได้ มันอาจจะทุกข์ อาจจะไม่สำเร็จ

ใครจะมีความคาดหวังแค่ไหนก็เป็นเรื่องของแต่ละคน

แต่ในส่วนของผมเองมันไม่มีตรงนั้น

เพราะแรกเริ่ม ผมแค่อยากจะทำบ้าน ทำสตูดิโอเล็กๆไว้แขวนรูปของตัวเอง

แต่พอตัดสินใจทำก็ไม่เป็นไร ถ้าเพื่อนในวงการไม่สนับสนุน ไม่นำงานมาร่วมแสดงก็ยังมีงานของเราอยู่

เพราะฉนั้นไอ้คำว่าเสียใจ เสียดาย สู้ไหว หรือสู้ไม่ไหว ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองจะกลัว เพราะไม่หวั่นเรื่องว่าจะมีรายได้หรือไม่มี เพราะรู้ตัวเองว่ามีชีวิตหรือกินอยู่ยังไง ไม่ใช่ฟุ่มเฟือย ขณะเดียวกันงานศิลปะของตัวเองก็มีอยู่ในระดับที่มั่นใจว่ามีคนสนใจอยู่

เป็นสิ่งที่เค้าไม่ได้ขอร้องให้ทำ กระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ขอร้อง ส่วนจังหวัดก็ไม่ขอร้อง เพื่อนฝูงก็ไม่ได้ขอร้อง เพราะฉนั้นสิ่งที่ตัวเองทำ จะไปโวยวายหรือตั้งความหวัง หรือโมโหว่าคนนั้นคนนี้ไม่ช่วย ไม่อยู่ในความคิด”

แต่หากศิลปินหรือคนรักศิลปะรายไหนอยากจะคิดทำหอศิลป์บ้าง ในฐานะผู้มีประสบการณ์ วินัยมีคำแนะนำว่า

“ ผมคิดว่า เขาต้องดูตัวเองว่ามีเป้าหมายระดับไหน อยากทำอะไร

ถ้ามีเป้าหมายว่าอยากทำหอศิลป์ และอยากให้คนอื่นมาช่วย อย่าไปทำ เพราะสังคมไทยเรา กระทรวงวัฒนธรรม หรือรัฐบาลเรา ไม่มีให้อยู่แล้ว ทุกวันนี้ผมไม่เคยได้อะไรจากกระทรวงวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องเป็นราว บางปีเราทำกิจกรรม ขอได้บ้างไม่ได้บ้าง

ส่วนองค์กรในจังหวัดเขาก็ไม่ช่วยอยู่แล้ว ยกเว้นว่าเราจะทำโครงการอะไรไปคุย แล้วเค้าเห็นความสำคัญแค่ไหน จะช่วยเราแค่ไหน แต่โดยรวมแล้ว ถ้าคนๆนั้นไม่มีพาวเวอร์พอจะไปเจรจา กับนักการเมืองท้องถิ่น คุณอย่าไปตั้งความหวังแล้วไปคุยกับเค้า แต่ให้คุณทำของคุณเอง

อีกอย่างเวลาไปคุยเราต้องทำความเข้าใจด้วยว่า มันมีประเด็นไหนล่ะที่เค้าไม่ช่วย เพราะอะไร ต้องมีการคุยที่ลงลึกกว่านั้น อยู่ๆ เราจะไปโทษเค้าไม่ช่วยไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่เรานำเสนอ เราเองก็ไม่รู้ว่ามันเหมาะสม มันถูกต้อง ดีงามแค่ไหน เราจะไปเบรค หรือเชียร์ก่อนไม่ได้สักอย่าง เพราะเราไม่สามารถรู้ต้นทุน กำลัง ทัศนะ หรือ โลกทัศน์ของนักการเมืองท้องถิ่น หรือว่ามีอะไรในท้องถิ่นนั้นที่จะซับพอร์ทเราได้

เราจะไปคาดหวังไม่ได้ เพราะว่าเค้าไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ใดๆที่จะบังคับ มีแต่วางนโยบายเฉยๆ แต่ไม่เคยทำ

นโยบายสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม มันกว้าง เพราะมันรวมไปถึงการฟ้อน การรำ การทอผ้า การจักสาน การกีฬาพื้นบ้านฯลฯ มันกว้างมาก เพราะฉนั้นหอศิลป์ที่เราทำมันแค่จุดเดียว เราจะไปบอกเค้าให้ทำนู่นทำนี่ หรือขอให้ทำ มันยาก”

บุญคุณ “ปู่ม่าน ย่าม่าน”

ทุกวันนี้ การที่มีคนสนใจแวะมาเยือนหอศิลป์ฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วินัยขอยกความดีให้กับบรรพบุรุษของคนเมืองน่าน ที่ยังได้นำพาให้คนอยากมารู้จักเมืองน่านในมิติอื่นๆด้วย

“ต้องขอบคุณสิ่งที่บรรพบุรุษของคนเมืองน่านได้ทำไว้ อย่างที่ผมบอกทุกที่มีสิ่งที่ดีงาม แต่มีกำลังแค่ไหนด้วย ขอบคุณที่ศิลปกรรมเมืองน่านมีพาวเวอร์พอ มีพละกำลังพอ ที่เมื่อเอ่ยถึงแล้วคนเห็นความสำคัญ และเป็นเรื่องที่เป็นจริงของมัน มีความสำคัญจริง มีความงดงามจริง ทำให้คนอยากรู้อยากเห็นว่า มีมาเมื่อไหร่ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

อย่างกรณีภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” หรือ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ของเมืองน่าน ถ้าไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ที่สุดยอด มันจะมียืนหยัดและมีพลังดึงคนให้สนใจ ท่ามกลางกาลเวลาที่ผ่านมาได้อย่างไร มันต้องมีสิ่งสำคัญอยู่ ถ้าเล็กๆน้อยๆ นำมาพูดมันก็เฉย มันไม่มีพละกำลังพอที่จะประกาศออกไป และเป็นสิ่งที่คนได้รับแรงบันดาลใจ ในการที่จะคิดสร้างสรรค์ต่อ

ภาพกระซิบรักบันลือโลก ทำให้ผมซึ่งเป็นศิลปินร่วมสมัย นำมาล้อเลียนเป็นภาพฝรั่งที่มาเที่ยวกระซิบรัก และเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านเสด็จมา ทอดพระเนตรว่าเราล้อเลียนได้ ท่านก็เขียนภาพคน “ตะโกน”

รวมถึงงานศิลปะเทคนิคอื่นๆที่ผมทำ เช่น งานประติมากรรม เราสามารถนำมาเล่าเปรียบเทียบให้คนฟังได้ว่า ภาพกระซิบรักบันลือโลก มีความสำคัญแค่ไหน เทียบกับศิลปะระดับโลกได้ไหม ในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับผม มันมีคุณค่าเสมอศิลปะระดับโลกได้ ไม่ว่าในยุโรป หรืออเมริกา ไม่มีศิลปินคนไหนในโลกนี้ที่ออกแบบทำท่ากระซิบ มีแค่ที่วัดภูมิมินทร์ ที่เมืองน่าน ของเราที่เดียว

มันคือความอุดมสมบูรณ์ของศิลปวัฒนธรรม ความสร้างสรรค์ของคนในพื้นที่ มันมีระดับอยู่ และกลายเป็นศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอยู่ร่วมกันทั้งเก่าและใหม่ จนเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาด้านศิลปะขึ้นมาได้ ถ้ามันไม่มีอดีต ปัจจุบันก็จะไม่มีการกระทำใดๆสืบเนื่อง และอนาคตก็คงไม่มีวี่แวว

แต่อดีตก็มี ปัจจุบันก็มี และอนาคตเรามองเห็นแล้วว่าจะต้องมีคนที่สร้างสรรค์งานศิลปะในพื้นที่ตรงนี้เกิดขึ้นเพิ่มเติมแน่ มันเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป ไม่เฉพาะสิ่งที่เราเห็นในเมืองน่านหรือในเมืองไทย เป็นกฎเกณฑ์ของสังคมโลกเราอยู่แล้ว”


“อยู่ได้ พัฒนาได้” ตลอด 10 ปี ค่าเข้าชม 20 บาท

สำหรับคนที่อาจเป็นห่วงว่ารายได้ของหอศิลป์เพียงพอกับรายจ่ายหรือไม่ วินัยบอกว่า ปัจจุบันหอศิลป์อยู่สถานะที่สามารถอยู่ได้และพัฒนาได้

“เราเริ่มจากมีเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อก่อนผมมีพนักงานแค่ 2 คน แม้ว่ารายได้ที่เข้ามามีน้อย แต่ค่าใช้จ่ายมันมีน้อย เราพยายามพยุงด้วยสิ่งที่เราพอมีอยู่ ทั้งภาพเขียนและทรัพย์สมบัติที่ผมมี ถูกขายมาเป็นค่าใช้จ่าย

การขายภาพเขียนของตัวเองเพื่อมาพยุงหอศิลป์ กับรายได้จากค่าเข้าชม มันคือสิ่งที่อยู่ด้วยกัน เพราะการที่ทำหอศิลป์ นอกจากคนเข้ามาเที่ยวชมงาน เมื่อเขามาเห็นงานเรา แล้วสนใจ เขาก็ซื้องานเราด้วย เมื่อเขาซื้องานเราไป เราก็เอาเงินที่ได้มาพยุงและพัฒนา

ถ้าเป็นก่อนหน้านั้น ถามว่าพออยู่ได้ไหม อยู่ได้ แต่จะพัฒนายังไม่ได้ แต่ตอนนี้เราสามารถบอกได้ว่าเราสามารถอยู่ได้แบบพออยู่พอกินและพัฒนาได้

แม้รายได้จากค่าเข้าชม 20 บาทต่อคน ไม่พอหรอก แต่ราคานี้ เป็นราคาที่เราคิดว่า ไม่กั้นคนที่จะดึงพ่อแม่ ดึงน้องๆ ดึงลูกๆ ดึงเพื่อนๆ เข้ามาเที่ยว เพราะว่าจ่ายเงินแค่ 100 บาท ดึงมาได้ตั้ง 3-4 คน ไม่ใช่ค่าเข้าชมต่อคน 200 บาท เพราะถ้าค่าเข้าชมแพง ปริมาณคนก็น้อย พอประชาชนจะเสพงานศิลปะก็โดนเบรค

ตั้งแต่เริ่มต้นเราคิดถึงว่า ทำยังไงให้คนมีโอกาส สบายใจ ที่จะเข้ามาชม และงานศิลปะไม่ได้สูงเกินที่จะไปซื้อมาชม จากที่เคยพาพ่อพาแม่ไปดูงานศิลปะในวัดมาก่อน คราวนี้มาดูในแกลเลอรี่ ดูงานระดับสากลได้

ถ้าเราไปคัดแต่คนที่เป็นคนรักศิลปะให้มาดูอย่างเดียว เบรคคนที่เข้ามาชมด้วยค่าเข้าชม มันก็จบเลย ไม่ได้ปริมาณคน

ดังนั้นตลอดสิบปีเราตั้งราคาค่าเข้าชมแค่ 20 บาท”


ชีวิตเนิบช้า ที่ …“หอศิลป์ริมน่าน”

ซึ่งค่าเข้าชมราคานี้ สิ่งที่ผู้เข้าชมจะได้รับเมื่อแวะไปเยือนหอศิลป์ริมน่าน ได้แก่

อาคารหลังใหญ่ ที่ชั้นบนจัดแสดงภาพเขียนฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเคยเสด็จพระราชดำเนินมา หอศิลป์ฯถึง 3 ครั้ง และการจัดแสดงผลงานศิลปะของเจ้าของหอศิลป์ ส่วนชั้นล่างจัดแสดงผลงานของศิลปินมืออาชีพและนิทรรศการสำคัญๆที่สัญจรมาจัดแสดง ทว่าระหว่างนี้กำลังอยู่ช่วงเวลาจัดแสดงภาพเขียนแนวนามธรรมชุด “สบาย สบาย” ของเจ้าของหอศิลป์

เฮือนหนานบัวผัน นอกจากเป็นพื้นที่เชิดชูเกียรติศิลปินผู้ฝากผลงานไว้ที่วัดภูมินทร์ อ.เมือง และวัดหนองบัว อ.ท่าวังผา ยังจัดแสดงภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญในเมืองน่านและที่เกี่ยวข้องกับสกุลช่างจิตรกรรมฝาผนังเมืองน่าน

“เป็นภาพถ่ายคุณภาพสูงพิมพ์บนผ้าใบ มีคำบรรยายให้คนที่สนใจ หลังจากไปงานชิ้นจริงที่วัด แต่ไม่รู้ข้อมูลอะไร มาที่นี่จะได้รู้ เพราะเรายังทำเป็นหนังสือด้วย ดังนั้นใครจะมาเพื่อหาข้อมูลเบื้องต้นหรือว่ามาค้นคว้าก็ครบองค์ประกอบ”

และอีกสองพื้นที่ ซึ่งมีไว้สำหรับให้ศิลปินรุ่นใหม่ที่มีงานศิลปะขนาดไม่ใหญ่มากและไม่มากชิ้นนำงานมาจัดแสดง

“ส่วนนี้เราแทบจะไม่คัดไม่ตรองในเรื่องคุณภาพ เพราะเราอยากจะให้เป็นพื้นที่สนับสนุนเค้า แต่ส่วนมากศิลปินที่มาติดต่อเขาก็มีงานคุณภาพมาเสนอ ทั้งภาพเขียน ภาพประกอบ ภาพถ่าย หรือบางคนไม่ใช่ศิลปินรุ่นใหม่หรอก อาจจะเป็นมืออาชีพ ที่อยากจะแสดงงานชุดเล็กๆบ้าง

นอกจากนี้ยังประกอบด้วยร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ลานแสดงผลงานประติมากรรม และการแสดงดนตรีและเขียนภาพสดในช่วงเทศกาลสำคัญ ท่ามกลางบรรยากาศที่มีสีเขียวของต้นไม้กระจายอยู่ทั่วพื้นที่และมีแม่น้ำน่านให้ทอดตามอง จนอยากวางชีวิตไว้ที่นั่นให้ “น่าน น้าน นาน” ดั่งคำในเพลง “น่าน..น่ะสิ” แม้จะไม่สามารถโพสต์ แชต และแชร์ใดๆกับคนบนโลกโซเชียล ด้วยหอศิลป์ตั้งอยู่ในพื้นที่อับสัญญาณ

ไม่เป็นไร…หลังจากรีบรนมาทั้งปี ลองมาใช้ชีวิตให้เนิบช้าดูบ้าง

หอศิลป์ริมน่าน ตั้งอยู่เลขที่ 122 ถนนน่าน – ทุ่งช้าง(ก.ม.20) ต.บ่อ อ.เมือง จ.น่าน
เปิด เวลา 09.00 – 17.00 น. (หยุดวันพุธ) สอบถาม โทร.081-989-2912










ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It