Art Eye View

กับดักและไฟในการทำงานของ “ทรงศีล ทิวสมบุญ” นักเขียนนิยายภาพและนักออกแบบคาแรคเตอร์ชื่อดัง

Pinterest LinkedIn Tumblr

ART EYE VIEW—ในยุคปัจจุบันที่ทุกคนต่างถูกห้อมล้อมด้วยเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียต่างๆและใช้เวลาหลายชั่วโมงของแต่ละวันไปกับสิ่งเหล่านี้ ไม่เว้นแม้แต่คนทำงานสร้างสรรค์อย่าง ทรงศีล ทิวสมบุญ นักเขียนการ์ตูน นิยายภาพ และนักออกแบบคาแรคเตอร์ ที่ยอมรับว่าเขาก็เป็นคนหนึ่งที่เสพติด จนบางครั้งต้องบำบัดด้วยการพยายามพาตัวเองให้ห่างจากสิ่งเหล่านี้เสียบ้าง

เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวและจากการที่อ่านงานวิจัยต่างๆทำให้เขาเชื่อว่าเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย มีผลทำให้คนใจร้อนขึ้นและมีพัฒนาการทางด้านการสร้างสรรค์ที่ช้าลง


ด้วยเหตุนี้ในวันที่ถูกเชิญไปบรรยายหัวข้อ “การออกแบบคาแรกเตอร์”ให้กับนักศึกษา สาขาวิชาสื่อดิจิทัล (Digital Media) คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เขาผู้ทำงานอยู่บนเส้นทางนี้มานานถึง 10 ปี มีหนังสือรวมเล่มผลงานออกมาทุกปี ไม่นับรวมผลงานที่ทำหน้าที่บรรณาธิการอีกหลายเล่ม และมีผลงานออกแบบคาแรคเตอร์กว่า 100 ตัว

มากกว่าแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบของตัวเอง อีกสิ่งหนึ่งที่เขาพยายามเน้นย้ำ ด้วยคิดว่าที่ผ่านมา อาจยังไม่ใครคุยเรื่องนี้กับน้องๆนักศึกษาอย่างจริงจัง คือเรื่องของการไม่ปล่อยให้ตัวเองติดกับดักของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียต่างๆ

“เรามีความหวังกับคนรุ่นใหม่นะ แต่เราก็กลัวว่าคนรุ่นใหม่จะถูกทำลายด้วยสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ว่ากำลังเกาะกินตัวเองอยู่ ดูนอกเรื่องนะ แต่เกี่ยวกันโคตรๆ

ตอนนี้พวกเราทุกคนถูกล้อมด้วยเทคโนโลยี เราคิดว่ามันเป็นเพื่อน ถูกครับ ส่วนหนึ่งมันเป็นเพื่อน มันช่วยให้เราได้สิ่งที่ต้องการง่ายขึ้น แต่สิ่งที่ผมเจอคืออะไรรู้มั้ย ตอนนี้ ผมอายุ 35 ปี เป็นคนที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างคนหนุ่มกับคนที่กำลังจะวัยทอง ผมสัมผัสเทคโนโลยีเหมือนพวกเราทุกคน ผมเล่น facebook ทุกวัน วันหนึ่งหลายรอบ แต่ขณะเดียวกันผมก็ยังเป็นแบบคนรุ่นเก่าที่ยังอ่านหนังสือ ใช้ชีวิตแบบเดิมๆอยู่ สิ่งที่ผมเห็นก็คือว่าไอ้สิ่งนี้ (เทคโนโลยี)มันเป็นกับดักสำหรับพวกเราอยู่เหมือนกัน

ผมพบว่าคนรุ่นใหม่ใจร้อนขั้น แม้แต่ตัวผมเองด้วย ผมกล้าพูดเพราะว่าตัวผมเองจากที่เคยเป็นคนชอบอ่านหนังสือมากก็อ่านน้อยลง หลังจากมีโซเชียลมีเดียทั้งหลาย บางครั้งผมรู้สึกโง่ลงนิดๆว่ะ (หัวเราะ) ทำไมกูโง่ คิดอะไรไม่ออกเหมือนแต่ก่อนวะ ซึ่งมันดีขึ้นเมื่อผมห่างจากมันซักพักกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆบ้างในบางวัน และอ่านหนังสือก่อนนอนบ้าง

เรารู้กันหรือเปล่าว่ามันมีการวิจัยว่า การอ่านหนังสือที่เป็นนวนิยายหรืออะไรที่เป็น Text ก่อนนอน ช่วยให้สมองมีพัฒนาการดี ในขณะที่ facebook หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทำลายระบบการอ่านแนวนอนของเรา พูดง่ายๆก็คือ มันคือแนวตั้ง มันทำให้เราโง่ลง เพราะข้อมูลทุกอย่างมันจะไหลผ่านเราไป มีเรื่องเป็นร้อยๆเรื่อง หรือ เป็นพันๆเรื่องในหนึ่งสัปดาห์ที่เราไม่จำเป็นต้องรู้แต่เราต้องรับรู้มันเข้าไป

เราอยากรู้มั้ยทุเรียนราคาตก โอเค..มันเป็นเรื่องของประเทศเรา มันดีที่เราได้รู้ แต่เราจำเป็นต้องรู้เปล่า มันมีเรื่องที่เราจำเป็นต้องรู้กว่านั้น ถูกเปล่า หรือมึงอยากรู้หรือเปล่าว่าดาราคนนี้ตบอีนี่ หรืออยากรู้มั้ยว่าคนที่เคยโชว์นมทุกวัน วันนี้ก็โชว์อีกแล้ว อยากรู้หรือเปล่า เราไม่อยากรู้ขนาดนั้นหรอก แต่มันโชว์นมให้ดู เราก็กดเข้าไปดู ใช่เปล่า

มันเต็มด้วยเรื่องที่เราไม่อยากรู้ เราถูกกับดักของเทคโนโลยี ทำให้เราติดกับดักเหมือนกัน เวลาที่เราควรจะพัฒนาตัวเองด้วยวิธีการอื่นบ้าง มันหายไป

จนมีช่วงหนึ่งผมต้องบำบัดตัวเองเหมือนกันนะ กูต้องห่างจากไอ้เหี้ยนี้บ้างแล้ว มันเยอะไปแล้ว เพราะสิ่งที่เป็นตอนนี้คือความแหลมคม ความลึกซึ้งของคนรุ่นใหม่มันถูกทำให้เหมือนๆกันไปหมด ทุกคนก็เล่น facebook เหมือนๆกัน ทุกคนก็เข้า Google เข้า Youtube ทุกคนมีสื่อหลักคล้ายๆกัน เรารู้มากขึ้นแต่เราพัฒนาการน้อยลง

หลายปีมาแล้วที่ผมทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ผมไม่เจอนักเขียนใหม่ๆที่เร้าใจ นักเขียนใหม่ที่ฝีมือถึงเขียนเรื่องดีๆ น้อยลงๆทุกที ตอนนี้ทุกคนเขียนอะไรมา ก็จะเหมือนกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว โอเค…โลกมันไม่มีอะไรใหม่ก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมเห็น เขียนแล้วก็เหมือนกัน เหมือนคนโน้นคนนี้

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมไปที่ไหน แล้วมีใครบอกว่าวัยรุ่นไทยแม่งอ่อน ผมไม่เคยเชื่อเลยนะ เพราะหลายครั้งผมได้เห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากๆ จากคนจำนวนน้อยนิดที่เราได้เจอ”

นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นกับดักของคนรุ่นใหม่ และคนทำงานสร้างสรรค์ในเวลานี้ ทรงศีลยังแลกเปลี่ยนกับน้องๆนักศึกษาถึงเรื่องไฟในการทำงาน เมื่อมีนึกศึกษาคนหนึ่งตั้งคำถามว่า “จริงหรือไม่ว่า สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์แล้วพอทำงานมาถึงจุดหนึ่ง ไม่ได้กลัวเรื่องฝีมือแล้วแต่กลัวเรื่องไฟในการทำงาน”

ทรงศีลพยักหน้าตอบว่าจริงและยอมรับว่าทุกวันนี้บางเวลาเขาก็รู้สึกเบื่อแม้ว่าจะได้ทำงานที่ตัวเองรักและถนัดก็ตาม

“ทุกวันนี้ผมยังเบื่อเลย ที่เขาพูดกันแบบโลกสวย ถ้าเราได้ทำงานที่ชอบมันก็เหมือนไม่ได้ทำงาน ไม่จริงว่ะ เบื่อจะตายห่าบางวัน (หัวเราะ) ทำมา 10 ปี ไม่เคยเบื่อหรือไงวะ เบื่ออยู่ครับ แต่ว่าสิ่งที่ยังเป็นไฟให้เราอยู่ก็มีหลายอย่างนะครับ”

ทางออกในเวลาที่เบื่อและต้องการสร้างไฟในการทำงานให้กับตัวเอง สำหรับทรงศีล ส่วนหนึ่งคือการศึกษาชีวิตและผลงานของบุคคลที่ตัวเองชื่นชม กล้าที่จะลงมือทำอะไรใหม่ๆในสิ่งที่คิดว่าน่าสนใจสำหรับตัวเองและคนอื่นๆ และมีกลุ่มคนให้ร่วมแลกเปลี่ยนและติชม

Stephen King นักเขียนนิยายเขย่าขวัญ ชาวอเมริกัน และ Neil Gaiman นักเขียนชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากผลงานการ์ตูนชุด The Sandman (ซึ่งเป็นตัวละครจากเรื่องสไปเดอร์แมน) คนเหล่านี้ให้คำตอบเรื่องไฟในการทำงานสำหรับเขาว่า “ถึงจุดหนึ่งมันไม่ใช่เรื่องเงิน แต่มันเป็นเรื่องที่ว่างานของตัวเองจะไปได้แค่ไหน”

“ถึงจุดหนึ่งมันเกี่ยวกับเงินว่ะ เงินมันเป็นไฟให้เราไม่ได้ตลอด เคยทดลองช่วงหนึ่ง เราก็ไม่ได้มีเงินมากนะ ไม่ใช่ว่าร่ำรวย แต่ว่าคือคนเราถ้าตั้งใจจะผลาญก็ผลาญได้ ก็ลองเอาเงินมาใช้ก้อนหนึ่งแล้วบอกตัวเองว่า ช่วงนี้กูจะไม่ทำอะไรทั้งนั้นกูจะใช้เงินอย่างเดียว

ลองทำตัวแบบนี้ดูไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เลยนะ ผมรู้สึกเบื่อโคตรๆเลย ตั้งแต่นั้นผมก็เข้าใจขึ้นเยอะเลย คือยังอยากรวยอยู่นะ แต่เข้าใจขึ้นเยอะเลยว่า ต่อให้มึงรวยมาก มึงก็ไม่แก้ปัญหาหรอก ความเบื่อฆ่าคนได้ดีที่สุดเลย เราจะตายทั้งเป็นก็ได้นะ ถ้าเราเบื่อชีวิตเกินไป

ผมค้นพบหลังจากที่ลองใช้ชีวิตแบบนั้น มันต้องทำในสิ่งที่น่าสนใจสำหรับตัวเราเองและคนอื่นด้วย มีคอมมูนิตี้ที่ได้มาถกกัน เขียนไปคนอ่านจะติจะชมก็ได้ ด่าก็ได้นะ ผมสนุกด้วย พูดจริงๆไม่ได้กระแดะ มันทำให้เราไม่เบื่อไง คนที่ได้ทุกอย่างไม่สนุกหรอก มันไม่มีอะไรให้ตื่นเต้นอีกต่อไป

เพราฉะนั้นถ้าจะมีไฟ เราต้องไม่กลัว passion ของตัวเอง บางคนก็กลัวนะ เวลาเราชอบอะไรประหลาดๆ เคยรู้สึกกลัวหรือเปล่าว่าเพื่อนคนอื่นจะไม่ยอมรับ ถ้าเป็นพวกที่ เฮ้ย..งานฉันยอดเยี่ยมมาก เฮ้ย..ฉันไม่กลัว พวกนี้น่าจะไม่เบื่อนะ”


นอกจากนี้ ในระยะหลัง การได้ทำในสิ่งที่ทรงศีลเรียกว่า “ทดลองกับชีวิต” ก็คืออีกสิ่งที่ผลักดันให้เขาสามารถทำงานต่อไปได้
 
“ผมเริ่มทดลองมากเรื่อยๆกับชีวิตด้วยครับ อย่างตอนเขียนหนังสือเล่มล่าสุด เมื่อคิดว่าพอจะทำได้แล้ว ผมไปอังกฤษมา โดยที่ไม่ได้ไปสถานที่ไฮไลท์ของนักท่องเที่ยว อะไรที่มันอยู่ในโปสการ์ดไม่อยู่ในทริปเลย แต่ไปพวกปราสาท คฤหาสน์ฯลฯกะจะเขียนหนังสือแล้วล่ะ เอ๊..หรือจะรอขายหนังสือดี (หัวเราะ)

จริงๆมันไม่จำเป็นต้องไปหรอก เราก็รู้กันอยู่ว่าทุกวันนี้มันดูในอินเตอร์เนทก็ได้ใช่หรือเปล่าครับ ทุกอย่างมันมีหมดแหล่ะ มันไม่มีความลับอะไรอีกต่อไปแล้วโลกนี้ ที่ผ่านมาผมก็พยายามเดินทางเป็นระยะๆนะ จริงๆแล้วเมื่อก่อนผมไม่ค่อยเชื่อหรอกเรื่องการเดินทาง เพราะรู้สึกว่าจินตนาการไปถึงหมด

แต่ว่าพอไปจริงๆ การที่สถานที่และสิ่งต่างๆ มันปะทะกับเราตอนที่เราอยู่ตรงนั้น มันจะให้แรงบันดาลใจ 360 องศา มันจะไม่เหมือนดูในจอ ซึ่งเป็นจินตนาการที่ไม่มีมิติเท่าที่ควร สถานที่เดียวกันจากที่เคยเห็นในรูป พอไปเห็นสถานที่จริง มันมีไอเดียร้อยๆอย่างพันๆอย่าง พุ่งขึ้นมาเลย”

ติดตามผลงานของ ทรงศีล ทิวสมบุญ ได้ที่ หน้าเพจ faccebook Songsin Tiewsomboon

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It