Art Eye View

ดำดิ่งลงไปชม Ocean Utopia ประติมากรรมใต้ท้องทะเล “เกาะเต่า” ผลงาน “วาเลครี กูร์ตาร์” ศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—ถูกนำลงสู่ใต้ท้องทะเลของ เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ Ocean Utopia ผลงานประติมากรรมใต้น้ำชิ้นแรกในชีวิตของ วาเลครี กูร์ตาร์ ศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส

หลังจากที่เตรียมการมานาน 9 เดือน โดยได้รับความร่วมมือจาก New Heaven Reef Conservation Program (NHRCP) โครงการอนุรักษ์ทางทะเลที่มุ่งวิจัยและฟื้นฟูแนวปะการังเพื่อการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแนวปะการัง


เนื่องจากผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ ซึ่งประกอบด้วย ประติมากรรมรูปร่างมนุษย์ในอิริยาบถที่กำลังเคลื่อนไหว หล่อด้วยสัมฤทธิ์ จำนวน 3 ชิ้น และถูกออกแบบให้มีฐานเป็นคอนกรีตขนาดใหญ่จำนวนหลายชิ้นต่อๆกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นงานประติมากรรมถูกกระแสน้ำพัดพาไป

นอกจาก วาเลครี หรือ วาล จะสร้างสรรค์เพื่อให้เหล่านักดำน้ำได้ดำดิ่งลงไปชมใต้ท้องทะเล ในฐานะผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เธอยังปรารถนาให้เป็นที่สำหรับเพาะเลี้ยงปะการังไปพร้อมกันด้วย

ประติมากรรมถูกนำลงไปติดตั้งใต้ท้องทะเล บริเวณอ่าวเต่าทอง ทางตอนใต้ของเกาะเต่า หนึ่งในจุดดำน้ำและอนุรักษ์แนวปะการังที่สำคัญจุดหนึ่งของเกาะเต่า

วาลบอกเล่าด้วยว่าผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ของเธอจะมีความสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ในอนาคตมีปะการังงอกขึ้นใหม่บนชิ้นงาน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า Ocean Utopia เป็นผลงานประติมากรรม ที่ก่อร่างสร้างขึ้นด้วย 3 สิ่งด้วยกัน ได้แก่ สัมฤทธิ์ คอนกรีต และปะการัง

และมุมมองที่เราได้สัมผัสจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าเราดำดิ่งลงไปชมมันเมื่อไหร่ และ ณ เวลานั้นๆ แสงจากผิวน้ำตกลงไปกระทบมันอย่างไร
วาลเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ 12 ปีก่อน และเมื่อ 9 ปีก่อนได้พบรักกับสามี เฟรเดริค โมเคิร์ล อดีต Vice President(รองประธานกรรมการ) ของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในวงการคอร์เปอร์เรท

กระทั่งในระยะหลังเขาได้ผันตัวเองมาเป็นคนคอยบริหารจัดการด้านศิลปะให้กับเธอ รวมถึงจิตรกรและช่างภาพอีกสองคนในสังกัด เนื่องจากมีความชื่นชอบในศิลปะเป็นทุนเดิม

“เกาะเต่า” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทยที่แรกที่เฟรเดริคพาวาลเดินทางมาท่องเที่ยวและดำน้ำ ขณะที่เขาเคยเดินทางมาท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อ 17 ปีก่อน รวมถึงลูกชาย 2 คน ของเฟรเดริคซึ่งมีกับภรรยาคนแรก ก็มาเรียนดำน้ำที่นี่ด้วย

ดังนั้นเมื่อวาลคิดจะทำผลงานประติมากรรมใต้น้ำชิ้นแรก เกาะเต่าจึงเป็นสถานที่แรกๆที่เธอนึกถึง แต่ในเมื่อเธอไม่ต้องการให้มันเป็นแค่ผลงานศิลปะที่ติดตั้งอยู่ใต้น้ำ แต่อยากให้มีประโยชน์ในแง่สิ่งแวดล้อมด้วย

เฟรเดริคจึงพยายามช่วยเธอค้นหาไปทั่วเอเชียว่า มีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ไหนบ้าง ที่ควรจะร่วมมือและขอคำแนะนำ จนได้มาเจอและได้รับความร่วมมือจาก Chad Scott นักชีวะทางทะเล (Marine Ecology) ชาวอเมริกัน ผู้จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จาก University of Colorado ประเทศสหรัฐอเมริกา และด้านชีวะทางทะเล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้เคยมาฝึกงานที่เกาะเต่าและต่อมาได้ก่อตั้ง New Heaven Reef Conservation Program ขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมริเริ่มอีกหลายโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของเกาะเต่า

ประติมากรรม Ocean Utopia ดินแดนแห่งอุดมคติใต้ท้องทะเล ที่ซึ่งอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ จึงได้เริ่มต้นเดินทางผ่านจินตนาการของวาลและถูกส่งลงสู่ใต้ท้องทะเลของเกาะเต่าในที่สุด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ปะการัง




“แนวปะการัง เป็นอะไรที่ sensitive(ไวต่อสิ่งกระตุ้น) เวลาอุณหภูมิเปลี่ยน คนเราอาจย้ายตัวเองไปที่อื่นได้ แต่ว่าแนวปะการังไปไม่ได้ ถ้ามากกว่า 6 องศา ก็อาจจะตายได้

ขณะนี้ ทะเลในหลายพื้นที่ทั่วโลกได้สูญเสียแนวปะการังไปเยอะมาก เพราะเหตุจากภาวะโลกร้อน

แต่จากการไปดำน้ำดูแนวปะการังมาทั่วโลก เป็นที่น่ายินดีว่า บ้านเราหรือในพื้นที่เกาะเต่า ให้ความสำคัญกับการรักษาแนวปะการังเป็นอย่างมาก และผมไม่เคยเห็นว่าที่ไหนได้รับการสนับสนุนเท่าที่นี่มาก่อน

เรือที่ใช้บอกเขตแนวปะการังส่วนหนึ่งเราได้รับการบริจาคมาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขณะที่อื่นในโลกยังใช้สมอ ซึ่งมันทำลายแนวปะการัง

และแม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวมาดำน้ำที่เกาะเต่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่เดี๋ยวนี้เรามีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้น และส่วนหนึ่งมาเข้าโปรแกรมกับโครงการของเราเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราจะมีวิธีดำน้ำและอนุรักษ์แนวปะการังไปด้วยได้อย่างไร”

สเปนเซอร์ อาร์โนลด์ หัวหน้าโครงการปะการังเทียม ของ New Heaven Reef Conservation Program (NHRCP) กล่าวแทน Chad Scott ผู้กำลังพักรักษาตัวเนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็ง

ขณะที่วาลเสริมว่า “ดัวยเหตุนี้ ประติมากรรมใต้ท้องทะเล Ocean Utopia ของฉันจึงขอเป็นจุดเล็กๆจุดหนึ่งของการร่วมอนุรักษ์แนวปะการังในพื้นที่เกาะเต่า”

และบอกด้วยว่า Ocean Utopia ที่เกาะเต่าอาจจะเป็นประติมากรรมใต้น้ำชิ้นแรกของเธอ แต่มันจะยังไม่ใช่ชิ้นสุดท้าย เพราะเธอยังหวังที่จะเห็น Ocean Utopia เกิดขึ้นอีกหลายๆที่

“การทำผลงานศิลปะเพื่อท้องทะเลชิ้นนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนหลายๆกลุ่ม เพราะการนำไปติดตั้งใต้ท้องทะเลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถทำเสร็จได้ในคราเดียว

ฉันกำลังมองหาว่ามีพื้นที่อื่นๆที่ไหนอีกบ้างที่แนวปะการังอยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงสูง แม้โอกาสหน้าตัวประติมากรรมและเรื่องราวจะเปลี่ยนไป แต่ยังอยากให้เป็นไปแนวทางของการฟื้นฟูแนวปะการัง”

เมื่อมีคนตั้งคำถามว่าทำไม Ocean Utopia ที่เกาะเต่าของวาล จึงเป็นประติมากรรมมนุษย์ 3 คน มีลักษณะผอมสูง แขนขายาวเก้งก้าง วาลตอบว่า

“ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ก็เหมือนกับผลงานส่วนใหญ่ของฉันที่พยายามสื่อถึงความรู้สึก ที่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ สื่อถึงชีวิตที่กำลังตามหาคำตอบ และความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับธรรมชาติรอบตัว ฉันอยากให้ผลงานของตัวเองออกมาในลักษณะที่ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนดูแล้วก็สามารถเข้าใจได้ และเวลาดูก็สามารถทำให้นึกถึงชีวิตของตนเองและชีวิตผู้อื่นไปด้วย”

ใครที่เคยชมผลงานของวาลมาก่อนหน้านี้คงพอจะนึกตามและเห็นภาพชัดขึ้นมาบ้างผลงานประติมากรรมหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ ผ่านกิริยาท่าทาง มากกว่าความเหมือน เคยจัดแสดงทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ,งาน India Art Fair ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย,งาน Art Central ณ ฮ่องกง และ CAFA Museum ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และ Shanghai Art Fair 2010 ที่ซึ่งผลงานประติมากรรมขนาดอนุสาวรีย์ของเธอชื่อ Urban Life ได้เปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Jing’An International Sculpture Project

ส่วนผลงานติดตั้งถาวร อาทิ Waiting III ณ นิว ไทม์ สแควร์ ในกรุงไทเป ,Inéquilibre ณ อาคารที่อยู่อาศัยที่สูงที่สุดในประเทศสิงคโปร์ , Inle Balance III และ Urban Gathering ผลงานประติมากรรม 2 ชิ้น ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพฯ สุขุมวิท ฯลฯ

และหากไม่นับรวมผลงานล่าสุดที่เกาะเต่า ล่าสุด “วาล” ศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส ผู้เดินทางไปมาหลายประเทศทั่วโลก แต่ปัจจุบันมีบ้านและสตูดิโออยู่ที่ประเทศไทย ได้มอบผลงานประติมากรรมชิ้นหนึ่งให้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปติดตั้งไว้ที่ สวนเบญจสิริ 

“ฉันรู้สึกยินดีและมีความสุขมาก เพราะนับตั้งแต่มาเมืองไทย ได้มีผลงานประติมากรรมหลายชิ้นฝากไว้ที่ประเทศไทย รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ไม่ใช่แค่มาอาศัยที่นี่เป็นบ้านและสถานที่ทำงาน”

รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ ภาพโดย : Elisabeth Lauwerys และ ART EYE VIEW











ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It