Art Eye View

“ผ้าถุง” บนกระดาษใยข้าว ศิลปะของ Gi-ok Joen คุณแม่และศิลปินเกาหลีพลัดถิ่น

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW—เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ … A Space to Exist หรือในชื่อภาษาไทยว่า “พื้นที่เพื่อการดำรงอยู่” คือหนึ่งในนิทรรศการ ที่จะมาเพิ่มเติมสีสันให้กับเดือนแห่ง “วันแม่แห่งชาติ” 12 สิงหาคม

เพราะเป็นนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของ Gi-ok Joen ศิลปินชาวเกาหลี ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้มีอีกสถานะเป็นคุณแม่ และที่ผ่านมาผลงานศิลปะหลายชิ้นของเธอ มีเรื่องราวของ “ลิลลี่” ลูกสาวของเธอเองเข้ามาเกี่ยวข้อง

รวมถึงนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ (ซึ่งเป็นการแสดงเดี่ยวผลงานในรอบ 5 ปี) ลูกสาวที่สะท้อนผ่านผลงานศิลปะของเธอ พัฒนามาจากผลงานในนิทรรศการชุด “Playful Prayer – หยอกเย้า เว้าวอน” เมื่อปี ค.ศ.2011

ทว่ามุมมองและอารมณ์ที่ถ่ายทอดผ่านผลงานชุดล่าสุดมีความแตกต่างกัน

จากภาพของลูกสาวของคุณแม่คนหนึ่ง สู่การเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม


นิทรรศการ “พื้นที่เพื่อการดำรงอยู่” แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. “Spatiotemporal Movement – การเคลื่อนไหวแห่งพื้นที่และห้วงเวลา” จัดแสดงผลงานจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิค ผ้าพื้นบ้านไทยอย่าง “ผ้าถุง” บนกระดาษใยข้าวของเกาหลี

ผ้าถุงถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของ Gi-ok Joen มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 และมันสะท้อนถึงตัวเธอเอง ในฐานะที่เป็นศิลปินพลัดถิ่น รวมถึงความผูกพันที่เธอมีต่อสถานที่ต่างๆ ประเทศไทย


2. “Space over Translucency – พื้นที่ เหนือละอองแสง” ในส่วนนี้จัดแสดงผลงานศิลปะสามมิติและผลงานศิลปะจัดวางที่แสดงถึงความงดงามของแสงที่ลอดผ่านความโปร่งแสงของเครื่องกระเบื้องโบนไชน่า (สภาวะโปร่งแสงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อดินถูกนำมาขึ้นรูปให้บาง จากนั้นจึงนำไปอบด้วยความร้อนสูง) เหตุที่ Gi-ok Joen เลือกเครื่องกระเบื้องโบนไชน่ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานก็เพราะเนื้อที่มีสีขาวบริสุทธิ์และความบอบบางของมัน ซึ่งเปรียบได้กับผืนกระดาษและผ้าใบ และเมื่อเปรียบเทียบกับงานจิตรกรรมของจีนแล้ว มันเหมือนกับการใช้เทคนิคการวาดภาพด้วยหมึกดำแบบโบราณลงบนผิวของเครื่องกระเบื้องพอร์ทเลนนั่นเอง นอกจากนี้ดินที่เธอเลือกใช้ยังมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างจากดินชนิดอื่นๆ ตรงที่จะกลายเป็นวัตถุโปร่งแสงเมื่อผ่านความร้อนสูงจนกลายเป็นพอร์ทเลน ความงดงามจากคุณลักษณะโปร่งแสงของเนื้อวัสดุนี่เองที่ช่วยสร้างสรรค์จินตนาการให้แก่ผู้ชมงาน นอกจากนี้ผลงานยังถูกเสริมให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการนำเอาผ้าฮันบกมาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผ้าชนิดนี้ไม่เพียงแต่จะงดงามด้วยสีที่สดใสในตัวมันเองเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงอัตลักษณ์แห่งความเป็นเกาหลีอีกด้วย

3.“Structural Intermediacy – สื่อกลางแห่งเรื่องเล่า” จัดแสดงผลงานจิตรกรรมบนผืนผ้าที่ถูกตัดเป็นแนวยาวหลายผืน ทอดตัวภายในพื้นที่ของแกลลอรี่จากพื้นจรดเพดาน ในขณะที่ผืนผ้าเคลื่อนไหวอยู่กลางอากาศลวดลายบนผ้าเหล่านั้นก็จะเคลื่อนไหวตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

ภาพลวงตาอันเกิดจากการเคลื่อนไหวระหว่างพื้นที่จริงและพื้นที่ในจินตนาการ คือนี้การเน้นย้ำให้เห็นถึงการดำรงอยู่อย่างไม่ยั่งยืนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่ในตัว ซึ่งนั่นก็รวมถึง “ลิลลี่” ลูกสาวของเธอเอง
 
 

Gi-ok Joen เกิดที่ประเทศเกาหลี สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ด้านจิตรกรรมในโซล และศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาโทจาก Beijing Central Academy of Fine Arts อันเป็นสถาบันการศึกษาด้านศิลปะชั้นนำของประเทศจีน ต่อมาย้ายมาอาศัยในกรุงเทพฯ และเริ่มศึกษาด้านภาพพิมพ์ที่ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานศิลปะส่วนใหญ่ของ Gi-ok Joen เป็นงานประเภทสื่อผสมที่สร้างขึ้นด้วยหลากหลายเทคนิค ได้แก่ การปัก การทอ การวาด และภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut)

นำเสนอเรื่องราวของความหลากหลายทางวัฒนธรรม, ความเป็นแม่, และเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยทั้งหมดยังคงเกี่ยวพันถึงสิ่งที่ตกทอดมาจากวัฒนธรรมเกาหลี, สุนทรียะตามแบบฉบับของจีน และชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศไทย

Gi-ok Joen เคยจัดแสดงเดี่ยวผลงานที่ Beijing International Art Palace Museum และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเคยร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการแสดงกลุ่ม ทั้งที่ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ในกรุงเทพฯ, Center of Visual Art Boda ในโซล, Mu Project ในวอชิงตัน ดี.ซี. และ Central Academy of Fine Arts ในปักกิ่ง

นิทรรศการ “A Space to Exist – พื้นที่เพื่อการดำรงอยู่” โดย Gi-ok Joen จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม – 2 ตุลาคม พ.ศ.2559 ณ หอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ ถ.สุขุมวิท 33 (การจัดแสดงนิทรรศการได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศเกาหลี)

ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: [email protected]

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews

Comments are closed.

Pin It