ART EYE IEW— “ไม่น่าเชื่อว่าศิลปินคนหนึ่งจะสร้างผลงานมากมายมหาศาลขนาดนี้”
คือความเห็นของ ถนอม ชาภักดี 1 ใน 2 ภัณฑารักษ์ร่วมกับ ไพศาล ธีรพงษ์วิษณุพร ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทำหน้าที่คัดสรรผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของ ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 2548 มาจัดแสดงผ่าน ประเทือง เอมเจริญ “ร้อยริ้วสรรพสีสัน” ตำนานชีวิตและสังคม นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะย้อนหลัง(The retrospective art exhibition) ในวันที่ศิลปินแห่งชาติท่านนี้มีอายุ 81 ปี
ในที่สุดภัณฑารักษ์ทั้ง 2 ท่านก็ได้คัดสรรภาพเขียนจำนวนทั้งสิ้น 81 ชิ้น เท่ากับอายุของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน มาจัดแสดงในนิทรรศการซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 5 ยุค ซึ่งผลงานศิลปะที่จัดแสดงในแต่ละยุคนั้นนอกจากสะท้อนถึงชีวิตของประเทือง ยังสะท้อนสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาชีวิตและผลงานของประเทือง เอมเจริญ ที่ผ่านมาทางเลือกหนึ่งอาจมุ่งไปที่ หอศิลป์เอมเจริญ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันมี สีน้ำ – ศรีศิลป์ เอมเจริญ ทายาทของประเทืองทำหน้าที่ดูแลและให้การต้อนรับผู้ไปเยือน
แต่สิ่งที่นิทรรศการแสดงผลงานครั้งสำคัญครั้งนี้ของประเทืองให้กับผู้ชมมีความแตกต่างจากไปจากการชมผลงานที่ติดแสดงภายในหอศิลป์เอมเจริญ เพราะนอกจากจะมีการหยิบยืมผลงานชิ้นสำคัญของประเทืองที่อยู่ในครอบครองของนักสะสมศิลปะมาร่วมจัดแสดงด้วย
ไพศาล ธีรพงษ์วิษณุพร กล่าวว่าสิ่งที่เป็นหัวใจหรือแก่นของนิทรรศการนี้คือต้องการให้ผู้ชมได้เห็นถึงวิวัฒนาการในการทำงานศิลปะของประเทืองว่ามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง มีการเติบโตอย่างไร
“ต้องการให้เห็นว่างานในแต่ละยุคแต่ละช่วงของพี่เทืองมีอะไรที่มันเปลี่ยนไป ที่มันแตกต่างจากก่อนหน้านี้บ้าง ก็คือต้องการไล่เรียงให้เห็นจากยุคที่ 1 ที่เป็นยุคของการเริ่มต้นค้นหาแสวงหา เพราะฉนั้นงานในยุคที่ 1 จึงเป็นงานที่ค่อนข้างหลากหลาย ได้อิทธิพลมาจากงานศิลปะ ยุค post-impressionism, impressionism และ expressionism ผลงานยังสะเปะสะปะอยู่ ยังไม่ชัดเจน
แต่พอยุคที่ 2 เป็นยุคที่พี่เทืองค้นพบแล้ว หลังจากที่น้าชายแนะนำให้ไปศึกษาจากธรรมชาติ ก็เลยไปนั่งเพ่งพินิจความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของธรรมชาติ ที่คนอื่นมองว่าบ้าที่สุดก็คือการไปนั่งจ้องพระอาทิตย์ที่เริ่มขึ้นจนพระอาทิตย์ตก จนตาเกือบเสีย แต่ว่าการทำแบบนั้นทำให้พี่เทืองเห็นสีสันที่มันแตกต่างจากที่คนอื่นเห็น อย่างที่แกได้ระบายออกมาเป็นภาพในยุคที่ 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นดวงเป็นวง มีแฉกสีพุ่งออกมา มีรัศมี รวมถึงไปมองดูสายน้ำไหลตามแม่น้ำ ลำคลอง ดูต้นไม้ใบหญ้าไหวล้อลม ดูทุกอย่างที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ดูจนซึมซับและเก็บความรู้สึกสิ่งเหล่านั้นมาสร้างเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะตัว
พอยุคที่ 3 เนื้อหาจะแตกต่างจากงานยุคอื่นๆ ไม่ใช่งานที่เกี่ยวกับธรรมะและธรรมชาติ แบบที่ออกไปดูต้นข้าว ใบหญ้า เขียนภูเขา เขียนหยดน้ำ เขียนใบบัว เขียนต้นไม้ เขียนดวงอาทิตย์ เขียนก้อนเมฆ เขียนสภาพทะเลตอนกลางวันกลางคืน แต่เป็นยุคที่บอกเล่าประเด็นทางสังคมและการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากสังคมไทยในตอนนั้นกำลังสุกงอมทางด้านการเมือง คนหนุ่มสาวเกิดการตื่นตัวหันมาสนใจประเด็นนี้มาก สภาพแวดล้อมก็นำพาศิลปินไป และพี่เทืองเป็นคนที่สนใจเรื่องสังคมและการเมืองอยู่แล้ว ช่วงเวลาที่สุกงอมที่สุด คือหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พี่เทืองก็เลยเอาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัว การรับรู้ข่าวสารต่างๆ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแต่ละคนที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ จนย่อยออกมาเป็นงานศิลปะชิ้นที่ชื่อ “ ธรรมะ อธรรม” หลังจากที่ทำงานชิ้นนี้สำเร็จเป็นชิ้นแรกโดยใช้เวลาอยู่ปีกว่าๆ จากนั้นก็มีงานชิ้นอื่นๆ ในยุคเดียวกันติดตามมาอีกหลายชิ้น
พอยุคสี่ 4 ยุคที่ทักษะในการวาด หรือการสร้างสรรค์ผลงานมีความสุกงอมและลงตัว ผลงานมีความสมบูรณ์มากกว่ายุคที่ผ่านมาๆทั้งในแง่องค์ประกอบทางศิลปะและเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ แตกต่างจากยุคที่ 5 ตรงที่เป็นยุคที่งานยังมีรายละเอียด ยังประณีตบรรจงกับชิ้นงานมีการใช้พู่กันเล็กๆไปแต้มไประบายไปเขี่ย พอมาถึงยุคที่ 5 เป็นยุคที่งานไม่เน้นรายละเอียด สร้างสรรค์ลงบนผ้าใบซึ่งมีขนาดใหญ่ อาศัยจังหวะการกวัดแกว่ง สร้างงานแบบฉับไว ใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ๆ เนื่องจากศิลปินสนุกจากการทำงานมากขึ้น รู้สึกทนไม่ได้กับการที่ต้องมานั่งเขียนด้วยพู่กันเล็กๆแบบแต่ก่อน เพราะมีสิ่งที่อยากแสดงออกมากขึ้น
ยุคที่ 5 จะเห็นว่ารายละเอียดแบบยุคที่ 4 จะหายไป (เพราะศิลปินมีอายุมากขึ้น และสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง?) ไม่ฮะ ผมมองว่าพี่เทืองกลับไปทดลองใหม่อีกครั้ง มีการใช้สโตรกแบบแปลกๆ มีจังหวะแปลกๆ ใช้พู่กันใหญ่ๆเขียนภาพ โดยไม่สนใจว่างานจะสวยจะลงตัวหรือจะสมบูรณ์ไม๊ แต่ว่าเป็นการเขียนรูปที่ให้ความสำคัญกับสมอง อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้น บางทีก็ใช้นิ้ว หรือปลายพู่กันเขี่ยลากสี เอานิ้วขูดมัน เป็นยุคที่มีการถ่ายเทอารมณ์ เพื่อระบายสิ่งที่อยู่ข้างในของตัวเองออกไป เพื่อจะทำงานให้ได้มากที่สุด การจะไม่นั่งจดจ่อทำงานแบบยุคที่ 4 รู้สึกว่ามันไม่เท่าทันกับสิ่งที่อยากระบายออกมา
โดยสภาพของงานอาจจะไม่สมบูรณ์เท่ายุคที่ 4 แต่แสดงให้เห็นว่าศิลปินมีความกล้าที่จะก้าวข้ามเพื่อไปหากการทดลองใหม่ ไม่สนใจความสำเร็จที่เคยมี งานศิลปะต้องไปข้างหน้า ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่”
เมื่อผู้ชมค่อยๆไล่ชมผลงานตั้งแต่ยุคที่ 1 จนถึงยุคที่ 5 สิ่งที่ผู้ชมหลายคนรู้สึกได้ไม่ต่างกันคือสีสันในผลงานที่ค่อยๆมีความเปลี่ยนแปลงไป จากที่ค่อนข้างมีความหม่นเศร้าค่อยๆแปรเปลี่ยนไปสู่สีสันที่สดใสมากขึ้น
ถนอม ชาภักดี สะท้อนว่าสีสันในผลงานที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ด้านหนึ่งสะท้อนถึงชีวิตของศิลปินเช่นประเทืองได้เป็นอย่างดี ที่เติบโตมาจากชีวิตที่ติดลบในหลายด้าน ไม่ได้เรียนจบศิลปะมาจากรั้วสถาบันใด ต้องต่อสู้เพื่อให้มีที่ยืนในแวดวงศิลปะ กระทั่งวันหนึ่งผลงานได้รับการยอมรับ สามารถขายผลงานได้ มีพื้นที่ของตัวเอง มีชื่อเสียง และได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
ขณะที่ สีน้ำ – ศรีศิลป์ เอมเจริญ ทายาทของประเทืองกล่าวในวันเปิดนิทรรศการเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดนิทรรศการแสดงผลงานของพ่อในครั้งนี้ เนื่องจากทางหอศิลป์ กทม.ได้ติดต่อไปทาบทามไปโดยให้เหตุผลว่าชีวิตและผลงานของประเทือง เอมเจริญ จะเป็นตัวอย่างให้กับคนทั่วไปได้เป็นอย่างดีในแง่ศิลปินที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของประเทศไทยที่มีชีวิตเริ่มต้นมาจากศูนย์
ไม่เพียงเท่านั้นชีวิตศิลปินของประเทืองยังเป็นเสาหลักให้กับคนทำงานศิลปะ อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะคนทำงานศิลปะที่ไม่ผ่านการเรียนศิลปะมาจากสถาบันการศึกษาด้านศิลปะ และภายหลังคนกลุ่มนี้ได้รวมตัวก่อตั้งกลุ่มธรรม (Dhama Group)เพื่อแสวงหาโอกาสที่จะนำแสนอผลงานศิลปะสู่สาธารณชนร่วมกัน
ชัยวัฒน์ วรรณานนท์ ลูกศิษย์รุ่นแรกๆของประเทืองและสมาชิกกลุ่มธรรม ปัจจุบันทำงานเขียนภาพปริศนาธรรมที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ บอกเล่าที่มาของการตั้งกลุ่มธรรมในวันที่เดินทางมาร่วมงานเปิดนิทรรศการของประเทือง หรือพี่เทืองของเขาในครั้งนี้ว่า
“เมื่ออาจารย์ประเทือง ทำงานศิลปะจนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองแล้ว ก็เริ่มมีนักศึกษาจากศิลปากรบ้าง จากเพาะช่างบ้าง และเด็กๆที่ไม่ได้เรียนศิลปะจากสถาบันใด มาหาเรื่อยๆ( ที่บ้านใน ซ.วัฒนา ย่านวงเวียนใหญ่ ใกล้กันกับบ้านศิลปิน จ่าง แซ่ตั้ง) ไปศึกษา ไปเรียนรู้จากท่าน และสมัยเข้าไปใหม่ๆ พวกเรายังไม่ได้เรียกอาจารย์ด้วย พวกเราเรียกพี่เทืองๆ เหมือนกับว่าอายุมากกว่าเลยเรียกพี่ พอผมบวชก็เลยคิดว่าควรจะเรียกพี่เทืองว่าอาจารย์ ต่อมาคนอื่นก็เลยเรียกตามว่า อาจารย์ประเทือง
ยุคนั้นการที่ใครสักคนจะได้แสดงงานศิลปะเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่เกาะกลุ่ม และที่เกาะกลุ่มได้ก็เป็นนักศึกษาที่จบจากสถาบันศิลปะเท่านั้น อย่างเพาะช่าง หรือศิลปากร คนที่ไม่ได้จบศิลปะมาจะแสดงงานเป็นเรื่องยาก อาจารย์ประเทืองและพวกเราซึ่งส่วนมากไม่ได้เรียนศิลปะจากสถาบันใด ก็เลยหาทางคิดว่าเราจะรวมตัวกันอย่างไรในการที่จะเอาผลงานของเรานำเสนอสู่ชาวบ้าน พอจะแสดงงานครั้งแรกที่คลองเตยก็เลยตั้งกลุ่มธรรมขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2513 ช่วงนั้นผมบวชเป็นพระ มาประชุมกัน มีคนเสนอชื่อเยอะ แต่ผมเสนอชื่อกลุ่มธรรม (Dhama Group) เพราะว่าเราเป็นศิษย์ท่านพุทธทาส และ Dhama ของเรามันหมายถึงธรรมชาติด้วย เป็นสิ่งดีงามด้วย และศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ คือความดี และความงาม ที่ประชุมเลยตกลงเอาชื่อนี้”
วันนี้(2 ก.ย.59)เป็นวันแรกที่นิทรรศการ ประเทือง เอมเจริญ “ร้อยริ้วสรรพสีสัน” ตำนานชีวิตและสังคม เปิดให้ผู้ชมทั่วไปได้เข้าชมอย่างเป็นทางการเป็นวันแรก และจากนี้ไปนิทรรศการจะจัดแสดงให้ชมยาวนานเกือบ 3 เดือน ไปจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ณ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
คาราวะ พี่ประเทือง
โอบโลกด้วยหัวใจอาบไฟศิลป์
ออกโบยบินจินตนาเติมฟ้าม่าน
ฝีแปรงปาดวาดเส้นเป็นจักรวาล
วักสายธารร้อยพันสีสาดชีวิต
เปิดดวงตาอ่อนโยนลุกโชนกล้า
เปล่งดาราวับวาวคราวมืดสนิท
แล้วสบตาท้าแรงแสงอาทิตย์
นฤมิตจิตวิญญาณงานประเทือง
เป็นประทีปที่ประเทืองเรืองศักดิ์ศิลป์
ทาบแผ่นดินทอผืนฟ้ามานานเนื่อง
ประทับพื้นผืนผ้าในกลางใจเมือง
ประกายเรืองศิลปกรรมธรรมปัญญา
จะโดดเดี่ยวฤาโดดเด่นเป็นไฉน
อยู่ที่ใจเจตน์จำนงมั่นคงกว่า
พ้นพายุที่พัดผ่านกาลเวลา
พบเปลวไฟในดวงยิ่งกล้าโชน
จิระนันท์ พิตรปรีชา
1 กันยายน 2559
จิตวิญญาณของศิลปิน
เมื่อศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยความสุขใจ
งานศิลปะของเขาจะงดงามถ้วนทั่ว ปราศจากความขุ่นมัว
เมื่อศิลปินน้อมนำความรัก มาสู่การงานศิลปะของเขา
งานศิลปะของเขาจะก่อเกิดสิ่งดีงามแก่เพื่อนมนุษย์
เมื่อศิลปินมีอิสระต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ
งานศิลปะของเขาก็จะเพียบพร้อมด้วยชีวิตชีวา
เมื่อศิลปินน้อมนำสัจจะมาสู่การงานสร้างสรรค์ของเขา
งานสร้างสรรค์ของเขาก็จะทรงไว้ซึ่งคุณค่า
งานศิลปะเช่นนี้จะน้อมนำมาซึ่งความรัก
น้อมนำมาซึ่งสันติธรรมแด่มวลมนุษย์
25 กันยายน 2527 บางแคสตูดิโอ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.manager.co.th Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews