[email protected]
เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ได้ถูกประกาศโดยรัฐบาล ให้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ตามมติของคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2546 และวันที่ 25 พฤศจิกายน ก็เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากลอีกด้วย
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงทราบเรื่องนี้ เพราะมีการจัดงานรณรงค์อยู่ในหลายที่หลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานภาคสังคมต่างๆ องค์กรมูลนิธิที่ทำงานด้านสตรีและเด็ก หรือสื่อต่าง เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต
ส่วนตัวอ้วนเองก็มีกิจกรรมค่อนข้างเยอะในช่วงเดือนนี้มาหลายปีแล้ว เนื่องจากถูกรับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาต่างๆ ในฐานะที่เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน
จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน เวลาเป็นแขกรับเชิญในเวทีเสวนาเหล่านี้ มักจะได้คำถามประมาณว่า
“คุณอ้วนรู้สึกยังไง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น.. พอจะเล่าได้ไหมว่าโดนกระทำอย่างไรบ้าง”
ถ้าคุณเป็นอ้วนที่เจอคำถามแบบนี้ คุณจะตอบยังไงค่ะ
เวลาอ้วนเจอคำถามแบบนี้ อ้วนจะมีคำตอบสองชุดค่ะ ชุดแรกอยู่ในใจ กับชุดที่สองคือ สิ่งที่พูดออกมา เนื่องจากคิดแล้วว่า ถ้าพูดชุดแรกออกไป วงเสวนาอาจจะกร่อยเสียก่อน เพราะดันคิดจะพูดว่า
“รู้สึกแย่ จนไม่อยากพูดถึงอีกแล้ว”
ซึ่งผู้ดำเนินรายการ อาจคิดอยู่ในใจ-แล้วอ้วนมานั่งเป็นแขกรับเชิญทำไม? ถ้าไม่อยากพูด..
ดังนั้นเพื่อเป็นสร้างมิตรภาพและความเข้าใจอันดีร่วมกันระหว่างผู้เคยตกเป็นเหยื่อฯ กับคนที่ไม่เคยตกเป็นเหยื่อฯ อ้วนก็ต้องพูดให้ผู้ที่มาร่วมรับฟังได้ทราบสิ่งที่อยู่ในใจชุดสองว่า
“รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของชีวิตที่ไม่อยากให้ผู้หญิงคนไหนต้องเจอะเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้เลย ส่วนเหตุการณ์ที่ถูกกระทำ ขอเล่าเท่าที่เล่าได้ไหมค่ะ เพราะพูดถึงทีไร ก็จะเห็นภาพเหล่านั้นย้อนกลับมาในหัวใหม่ทุกครั้ง ทำให้เราต้องเจ็บปวดใจเหมือนกับว่าเรากำลังถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก”
ความจริงอ้วนก็สงสัยเหมือนกัน แต่ไม่กล้าถามกลับไปตรงๆ ว่า การที่คุณอยากรู้ว่าเค้าโดนกระทำแบบไหน ยังไง เกิดประโยชน์อย่างไรกับผู้ฟังค่ะ
ก. เอาไปใช้ได้? ขนาดอ้วนยังโดนมาแล้ว
ข. เพื่อให้สะเทือนใจคนฟังว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งเคยถูกกระทำแบบนี้ เราจะได้ช่วยกันรณรงค์ยุติความรุนแรงฯ ต่อไป
ค. เอาไว้เล่าสู่กันฟังในกลุ่มอัพเดทข้อมูลข่าวสาร ไม่ตกข่าว
ง. น่าสงสาร น่าเห็นใจ น่าสมเพชเวทนา
จ. ผิดทุกข้อ หรือถูกทุกข้อ
ก็ยอมรับว่า ตัวเองเป็นคนกวนๆ อยู่เหมือนกัน แต่เรื่องนี้สงสัยจริงๆ น่ะค่ะ ดังนั้นช่วยตอบกลับมาด้วยค่ะ ..
แต่เดี๋ยวนี้ ผู้จัดเวทีเสวนาฯ เค้าก็ให้เกียรติถามเราก่อนทุกครั้งที่ขึ้นเวทีว่า ถามเหตุการณ์เก่าๆ ได้ไหม? อ้วนก็จะตอบแบบเดิมนั้นแหล่ะค่ะ ก็เลยไม่ถามกันแล้ว..ไชโย
อ้วนรู้สึกว่า มันมีเรื่องให้ถามอีกเยอะ ที่เป็นประโยชน์จริงๆ เช่น
“ถ้าเราต้องพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงฯ เราจะทำยังไง?” หรือ
“ถ้าเราเป็นคนที่ต้องถูกกระทำความรุนแรงฯ เราจะแก้ปัญหายังไง?”
แล้วคุณผู้อ่าน อยากรู้ไหมค่ะ ถ้าถามประมาณนี้ …
นอกจากนี้ อ้วนยังคิดว่า เราอุตส่าห์ไปเรียนกฎหมายจนจบปริญญามาสองใบ สอบใบอนุญาตจนเป็นทนายความได้แล้ว แต่คนอื่นๆ ก็ยังเห็นคุณค่าของเราแค่ “ผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อ” ก็น่าน้อยใจเหมือนกันน่ะค่ะ
ความจริงสิ่งที่ทำให้อ้วนออกมาพูดออกมารณรงค์เรื่องยุติความรุนแรงฯ ไม่ใช่การที่ให้ทุกคนมาจดจำว่า เราคือ เหยื่อเลย
อ้วนได้มีโอกาสคุยกับ ปิ๋ม ซีโฟร์ ซึ่งเค้าก็เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน เรานั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของกันและกัน และก็ได้ข้อสรุปที่คล้ายๆ กันหลายอย่าง เช่น
ปิ๋ม รู้สึกว่า ทำไมคนทั่วไปจดจำภาพของปิ๋ม เป็นแค่ “นักร้องที่ถูกสามียิง” ทั้งๆ ที่ปิ๋มเป็นนักแสดง เป็นศิลปินเพลงลูกทุ่ง เป็นครูสอนแดนซ์เซอร์ ซึ่งตรงกับอ้วนที่รู้สึกว่า ทำไมคนทั่วไปจดจำภาพของอ้วนเป็น “นางงามที่ถูกสามีทำร้าย”
ความเป็นเหยื่อ หรือผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรงฯ ในความรู้สึกของอ้วน ก็ไม่ต่างจากความเป็นรองนางสาวไทยสักเท่าไร และชีวิตของอ้วนก็มีสิ่งดีๆ ที่เป็นคุณค่าของตัวเองอีกเยอะแยะมากมาย
การตกเป็นเหยื่อ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป อ้วนไม่ได้เป็นเหยื่อตลอดชีวิตน่ะค่ะ ชีวิตอ้วนหรือคนอื่นๆ ที่เคยผ่านช่วงเวลาเลวร้ายเหล่านี้ เค้าก็แค่เผชิญกับมัน ยืนหยัดเอาชนะเรื่องราวที่เลวร้ายเหล่านั้นได้ แล้วก็ผ่านพ้นมันไป เพื่อทำหน้าที่ของตนเองในฐานะอื่นๆ ต่อไป
ที่ทุกคนยืนหยัดเอาชนะความเลวร้ายเหล่านั้นได้ เพราะเรารู้ว่า เราไม่ได้ทำผิด คนที่ทำร้ายร่างกายเราต่างหากที่เป็นคนผิด การแต่งงานไม่ได้เป็นข้อตกลงที่จะให้คนอีกคนหนึ่งมาทำร้ายร่างกายคนอีกคนหนึ่งน่ะค่ะ
เพียงแต่เหตุผลที่อ้วนออกมาพูด ก็เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต้องการให้ผู้หญิง ให้สังคม ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เกิดแนวคิด เกิดวิธีจัดการปัญหานี้ อย่างที่ควรจะเป็น เพราะอ้วนรู้ว่า เรื่องแบบนี้เป็นความเจ็บปวดกับผู้ที่ถูกกระทำขนาดไหน การขึ้นศาล เป็นโจทก์ฟ้องคดี ต้องอดทนกับสถานการณ์ต่างๆ คำพูดของคนอื่นๆ ที่ไม่เข้าใจ สภาพครอบครัว และใจของเราเอง
อ้วนไม่อยากให้ใครมาเจอเรื่องแย่ๆ แบบนี้หรอกน่ะค่ะ ถึงต้องออกมาพูด..ปัญหาของความเป็นผู้หญิงมีเยอะมาก ความไม่เข้าใจกัน โครงสร้างสังคมวัฒนธรรมที่กดทับให้ผู้หญิงต้องอดทน และอดทน ต่อไป..
ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม? เราต้องเป็นฝ่ายอดทน และห่วงโน้น ห่วงนี้ เวลาจะตัดสินใจอะไรสักอย่างเพื่อตัวเอง ก็คิดมากกว่าผู้ชายเยอะ อ้วนไม่เห็นผู้ชายจะคิดมากเท่าผู้หญิงเลย
เวลาผู้ชายเจอผู้หญิงถูกใจ เค้าก็จีบได้โดยลืมลูกเมียที่บ้านทันที
เวลาผู้ชายโมโห เค้าก็ตีเรา โดยลืมไปแล้วว่า ตอนที่เค้าขอแต่งงาน เคยสัญญาไว้อย่างไรบ้าง
แต่เวลาเราคิดจะเลิกกับผู้ชายคนนั้น ทั้งๆ ที่เค้าทำร้ายเราขนาดนี้ เราก็ยังคิดว่า เค้าก็ดีกับเราน่ะ เค้าขอโทษเราแล้วน่ะ เค้าบอกว่าจะไม่ทำยังงี้อีกแล้วน่ะ เราให้อภัยเค้าไม่ได้เหรอ ?
นึกถึงหน้าลูก นึกถึงความหลังครั้งเก่า สุดท้ายก็อยู่ให้สามีทุบตีต่อไป
อ้วนถือว่าเป็นกรรมค่ะ เป็นกรรมที่ตัวเองตัดใจจากผู้ชายคนนี้ไม่ได้ ..ส่งผลให้กรรมยังต้องดำเนินต่อไป เพราะใจเรานี้แหล่ะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเรา เมื่อเราเอาชนะใจตัวเองไม่ได้ เมื่อวันไหนคิดได้ จึงจะถือว่าหมดกรรมกับผู้ชายคนนั้นแล้ว
Comments are closed.