Advice

รัฐธรรมนูญกับสิทธิเด็ก อีกครั้ง/อ้วน อารีวรรณ

Pinterest LinkedIn Tumblr

[email protected]

สืบเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ก่อนได้เขียนบทความเรื่อง “สิทธิเด็ก กับการกลับบ้านหลังสี่ทุ่ม” ซึ่งดิฉันเองนำเสนอเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก โดยที่บางประเด็นอาจจะตกหล่นไป เช่นเรื่อง “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550” จึงขออนุญาตนำเรื่องนี้กลับมาอธิบายเพิ่มเติมกันอีกครั้งหนึ่ง

ในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล” ไว้ในมาตรา 32 ว่า

บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการทารุณโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้

การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

การค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้

และในมาตรา 34 ก็ได้บัญญัติว่า

บุคคลมีเสรีภาพในการเดินทาง และมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์

นอกจากนี้ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ก็ได้บัญญัติว่า

การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับ กฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วยโดยอนุโลม”

ดังนั้นเมื่อได้อ่านรัฐธรรมนูญทั้งสามมาตราที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็คงพอจะทำให้เข้าใจได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตนเอง การจับ การคุมขัง หรือ การตรวจค้นที่จะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น

ในส่วนการเดินทาง มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพในการเดินทางแน่นอน ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธินี้ เว้นแต่หากมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์

ซึ่งถ้าได้ศึกษาพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ก็จะพบว่าพระราชบัญญัตินี้ได้มีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น มาตรา 31, 34, 35, 36, 39, 48 และ 50 แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 ประกอบกับมาตราเหล่านั้น จึงบัญญัติให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้

นอกจากนี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 ได้บัญญัติว่า “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา” และในมาตรา 1567 ก็ได้กล่าวถึง “บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร” มีสิทธิดังต่อไปนี้

1.สิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร เนื่องจากผู้ใช้อำนาจปกครองคือพ่อแม่ จึงทำให้พ่อแม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลอบรมสั่งสอนลูกของตน กฎหมายจึงให้สิทธิแก่พ่อแม่ในการกำหนดที่อยู่ของลูกเพื่อสะดวกในการควบคุมดูแลอบรมสั่งสอนลูกของตน

2.สิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เพื่อเป็นการควบคุมความประพฤติของลูกด้วย แต่ต้องพอสมควรแก่เหตุเท่านั้น กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิพ่อแม่ลงโทษลูกเกินกว่าเหตุ เช่น การล่ามโซ่ กักขังลูก

3.สิทธิให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและตามสภาพร่างกาย เนื่องจากการให้ทำงานก็เป็นหนึ่งในวิธีการอบรมสั่งสอนบุตรให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่การให้ทำงานนี้ต้องคำนึงถึง อายุ เพศ สภาพร่างกาย และจิตใจของลูกด้วย

4.สิทธิเรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นแม้ว่า เด็กจะยินยอมไปกับบุคคลอื่นก็ตาม แต่ถือว่าเป็นการชักพาบุตรไปจากบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือเป็นการล่อลวงด้วยวิธีการอื่นใด ก็เป็นความผิดทั้งทางกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง

วกกลับมาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หากเป็นเพียงแนวนโยบายในการปฏิบัติหน้าที่ โดยอยู่ภายใต้อำนาจตามบทบัญญัติกฎหมาย “พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547” ที่ให้อำนาจหน้าที่หลักของข้าราชการตำรวจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด การรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนการปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ก็ย่อมทำให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงสามารถวางแนวนโยบายในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยในตรวจตรากวดขันในสถานที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิดได้ เพราะถือเป็นแนวนโยบายในเชิงป้องกันการกระทำความผิด

ส่วนการประกาศไม่ให้เด็กออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม เว้นแต่มีเหตุอันควร ก็ควรจะปรับเปลี่ยนเสียใหม่ เป็น ผู้ปกครองคนใดส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด เช่น ในเวลา 4 ทุ่มแล้ว ยังยินยอมปล่อยให้เด็กออกไปมั่วสุมอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อ การกระทำความผิด ก็ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นั้นเอง

เมื่อผู้ปกครองมีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร และมีสิทธิกำหนดที่อยู่ ลงโทษเด็กได้ตามสมควร แต่กลับไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรให้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่เหมาะสม ปล่อยปละละเลยให้เด็กมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด สุดท้ายไปกระทำละเมิดผู้อื่นหรือกระทำผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้กับคนทั่วไปในสังคม ก็ย่อมต้องให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจเข้ามาป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
 

Comments are closed.

Pin It