Celeb Online

สารพัดอาชีพยอดฮิต จำทนเสี่ยงโรค “ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง”

By Lady Manager

ปวดหัว ปวดคอ ปวดไหล่ ฯลฯ สารพัดอาการเจ็บ ที่สร้างความลำบากกาย รำคาญใจให้คุณอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่สาวหลายคน มักสวมวิญญาณ “สีทนได้” ทนเจ็บ ทนเมื่อยไปเรื่อย พร้อมแอบคิดปลอบใจตัวเอง …เรื่องธรรมดากลับบ้านพักผ่อนเดี๋ยวก็หาย

ทว่าแท้จริงแล้ว อาการปวดที่เกิดขึ้นจากการทำงานนั้น มิใช่เรื่องธรรมดาหรอกนะ แต่มันคือจุดเริ่มต้นแห่งความเจ็บป่วยที่จะทวีความรุนแรงขึ้น หากคุณไม่ดูแล และป้องกันอย่างตรงจุด !

ในงานเสวนาเพื่อสุขภาพ Hub of Wellness “เกร็ดเล็กๆ รอบตัวในที่ทำงาน กับการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง” ซึ่งจัดโดย Life Center เรามีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวของ “โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง” ( Myofascial Pain Syndrome) โรคยอดฮิตของสาวทำงานหลากอาชีพ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ คุณนพดล ไชยเชื้อ ผู้อำนวยการศูนย์รักษาโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ด็อกเตอร์แคร์ คลินิก สาระแน่น ความรู้เอี้ยดแบบนี้ เราจึงไม่ลืมที่จะเก็บเกี่ยวมาฝากคุณค่ะ

ผู้อำนวยการฯ นพดล เปิดประเด็นอธิบายสาเหตุของโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ว่าเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อที่มากเกินควร

“ปัญหาของกล้ามเนื้อ หรือการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อนั้น เกิดจากการใช้งาน เช่นการยืนนิ่งๆ 1 ชั่วโมง เราจะรู้สึกเมื่อยขา นั่นเพราะกล้ามเนื้อของเราถูกใช้งานเยอะ มันจึงเกิดการหดตัว แต่พอได้พักผ่อน เช่นยืนนานแล้วเมื่อยพอนั่งสักพักก็จะเริ่มหายเมื่อย เพราะกล้ามเนื้อมันเริ่มยืดออก ดังนั้นหากกล้ามเนื้อหด แล้วโดนยืดออกก็จบ

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หากเราต้องใช้งานกล้ามเนื้อต่อเนื่องนานๆ พอใช้กล้ามเนื้อจนหดตัวแล้ว ไม่ได้พักให้กล้ามเนื้อยืดตัว ยิ่งใช้งานต่อ กล้ามเนื้อก็ยิ่งหดเข้าหากันเรื่อย ๆ ก็เกิดเป็นกล้ามเนื้อแข็ง ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อไม่มี นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของการปวดเมื่อยที่เริ่มรุนแรงและยาวนานขึ้น”

แม้หลายคนจะทราบดี ว่ายิ่งใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ ก็ยิ่งสร้างความปวดเมื่อยให้ร่างกาย แต่ก็ยากที่จะเลี่ยง ด้วยเพราะภาระหน้าที่ ทำให้ต้องจำทนใช้กล้ามเนื้ออย่างหนักเช่นนั้นต่อไป…

“ปกติถ้าเราทำอะไรแล้วเมื่อย เมื่อได้พักจนหายเมื่อยปัญหาก็จบ แต่ถ้าเราจำเป็นต้องใช้กล้ามเนื้อติดต่อกันนานๆ เช่นคนที่นั่งทำงานในออฟฟิศ (Office) กล้ามเนื้อหลังต้องใช้งานอยู่ตลอดเวลา เมื่อกล้ามเนื้อต้องหดเกร็ง 8 – 10 ชั่วโมง แบบนี้ทุกวัน กลับบ้านไปพักผ่อน รุ่งเช้ามา ก็ต้องนั่งทำงานท่าเดิมอีก กล้ามเนื้อชุดเดิมก็มีการหดเกร็งเข้าไปอีก ทำอย่างนี้ไปเป็นปีๆ กล้ามเนื้อมัดเดิมมีปัญหาแน่ จากการที่เราเคยกลับไปนอนพักที่บ้านแล้วหายปวดหายเมื่อย 1 ปีผ่านไป นอนแล้วก็ไม่หายปวดเมื่อย เพราะกล้ามเนื้อจากที่เคยยืดหยุ่น มันไม่ยืด มันเกร็งสะสมอยู่อย่างนั้น”

“ทริกเกอร์ พอยท์” สาเหตุหลักของ อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเล่าต่อว่า เมื่อใช้กล้ามเนื้อติดต่อกัน เป็นเวลานาน กล้ามเนื้อจะเกร็งตัวสะสม จนเกิดเป็นก้อนเนื้ออักเสบที่เรียกว่า “ทริกเกอร์ พอยท์ ” (Trigger Points) ซึ่งเจ้าก้อนเนื้อนี้เอง ที่เป็นตัวการทำให้เกิด โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

“เมื่อกล้ามเนื้อเกร็งตัวนานเข้า มันก็เกิดการเกร็งตัวสะสมของกล้ามเนื้อ จนเกิดเป็นก้อนแข็งๆ ที่เรียกว่า ทริกเกอร์ พอยท์ เหมือนเวลาที่เราไปนวดแผนโบราณ แล้วกดเจอกล้ามเนื้อที่แข็ง คล้ายกันเลย เพียงแต่ทริกเกอร์ พอยท์ จะอยู่ลึกลงไปในกล้ามเนื้อชั้นใน เป็นก้อนเล็กๆ ขนาด 0.5-1 เซ็นติเมตร

ซึ่งก้อนแข็งๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการที่เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนนั้นไม่ได้ ทำให้ของเสียที่เกิดขึ้นภายในเซลล์กล้ามเนื้อไม่ได้ระบายออก เพราะกล้ามเนื้อหดเกร็งจนของเสียระบายออกไม่ได้ กล้ามเนื้อส่วนนั้นจึงเกิดการอักเสบ พออักเสบก็จะเกิดอาการปวดลึกๆ ใต้กล้ามเนื้อ จนในที่สุดก็ปวดเรื้อรังซึ่งรักษายาก ไม่ว่าจะเป็นยาคลายกล้ามเนื้อ หรือการนวด ก็ไม่สามารถแก้ไปปัญหาปวดนั้นได้ ผู้ที่เป็นก็ต้องทนปวดเรื้อรังไปเรื่อยๆ”

ที่สำคัญ อาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเมื่อยเนื้อตัว หากแต่ยังทำให้รูปร่างเปลี่ยน และปวดศีรษะได้อีกด้วย

“นอกจาก การเกร็งตัวสะสมของกล้ามเนื้อจะส่งผลให้ปวดเมื่อยแล้ว ยังส่งผลภายนอกให้เราพบเห็นได้ด้วย เช่น การที่ผู้บริหารหลายคน เดินลักษณะตัวงอ คอตก หรือไหล่ไม่เท่ากัน หลายคนคิดว่าอาจเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น แต่จริงๆ แล้วมันเกิดจากการที่นั่งทำงานนานๆ ใช้งานกล้ามเนื้อหนัก หรือใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง พวกนี้สามารถส่งผลให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงได้ด้วย

เช่นเดียวกับการปวดศีรษะ ที่มักเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองถูกกล้ามเนื้อกดทับไว้ เราอาจแยกการปวดศีรษะที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเป็น 3 ประเภทหลัก คือ 1. ปวดบริเวณหน้าผาก 2. ปวดบริเวณกระบอกตา เพราะว่ากล้ามเนื้อมันไปกดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณจอประสาทตา สุดท้ายที่เป็นหนักคือ ปวดบริเวณขมับ เรียกว่าเป็น ไมเกรน (Migraine) หรือปวดหัวข้างเดียว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักพบว่า อาการปวดศีรษะเรื้อรังกว่า 80% มาจากกล้ามเนื้อทั้งสิ้น

บางคนที่ปวดศีรษะบ่อยๆ แล้วกลัวเป็นโรคเนื้องอกในสมอง จึงบอกได้เลยว่า ถ้าเป็นอาการเนื้องอกในสมองจริง คุณจะปวดหัวตลอดเวลา เพราะเนื้องอกมันกดทับสมองตลอดเวลา แต่ถ้าคุณปวดแล้วมีช่วงหายบ้าง แล้วกลับมาปวดใหม่ พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการปวดอันเนื่องมาจากกล้ามเนื้อ”

สารพัดอาชีพยอดฮิต ล้วนเสี่ยง โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง !

ผอ. ศูนย์รักษาโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ด็อกเตอร์แคร์ คลินิก ให้ข้อมูลตามตรงว่า ตราบที่คุณยังทำงาน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ความเสี่ยงจะเกิดโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ก็มีอยู่ตลอด

“หลายอาชีพเลยที่เสี่ยงต่อการเกิด ทริกเกอร์ พอยท์ และโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ทั้งพนักงานบัญชี โปรแกรมเมอร์ (Programmer) สถาปนิก หรือผู้ที่ใช้กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อบ่า เป็นระยะเวลานานพวกนี้จะมีอาการปวดทั้งหมด โดยอาจยกตัวอย่างจากอาชีพยอดฮิตทั้งหลาย เช่น

วิศวกร มีพฤติกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ และใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ หัวไหล่ และข้อมือ

ดีไซน์เนอร์ (Designer) ที่ต้องขีดเขียน แบบแปลนต่างๆ เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ หัวไหล่ ข้อมือ และอาจมีอาการของนิ้วล็อคร่วมด้วย

แอร์โฮสเตส (Air Hostess) อาชีพที่ต้องยกของหนัก เอื้อมหยิบ – เก็บสิ่งของ เข็นรถเสิร์ฟอาหารเป็นประจำ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปวดกล้ามเนื้อ บ่า สะบัก หัวไหล่ รวมไปถึงท่อนแขนด้วย

เซลส์แมน (Salesman) อาจมีพฤติกรรมยกของหนัก ขับรถเป็นเวลานาน ใช้คอมพิวเตอร์ คุยโทรศัพท์ ใช้แบล็คเบอร์รี่ (Blackberry) ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ หัวไหล่ ข้อมือ รวมถึงอาจมีอาการนิ้วล็อคร่วมด้วย

ผู้ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ มีพฤติกรรมต้อง ก้มๆ เงยๆ ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิเวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะเสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว

นักบัญชี ผู้ต้องก้มๆ เงยๆ ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงต้องอยู่กับเอกสารและตัวเลขต่างๆ จึงทำให้นักบัญชีอาจมีความเสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว รวมถึงไมเกรนด้วย

สถาปนิก ที่ต้องขีดเขียน ออกแบบเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดบริเวณบ่า สะบัก ต้นคอ หัวไหล่ ข้อมือ รวมถึงอาจมีอาการนิ้วล็อค และชา ตามแขน-ขา
 
ผู้ควบคุมงาน หรือโฟร์แมน (foreman) ที่ต้องก้มๆ เงยๆ อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ตาพร่า และมีโอกาสเสี่ยงเป็นไมเกรนได้

แพทย์ หรือ ทันตแพทย์ ต้องก้มๆ เงยๆ บิดตัว เอี้ยวตัว เกร็งข้อมือและนิ้วมือ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะปวดบ่า ต้นคอ สะบัก หลัง และอาจจะเป็นนิ้วล็อคได้

ผู้บริหาร มีพฤติกรรมใช้งานคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อีกทั้งมีความเครียดสูง มีผลทำให้กล้ามเนื้อต้นคอเกร็ง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะไม่เพียงพอ จนรู้สึกมึนศีรษะ ปวดขมับ ปวดกระบอกตา ตาพร่า นอนไม่หลับ เสี่ยงเกิดโรคปวดศีรษะเรื้อรัง หรือไมเกรนได้”

เลี่ยงใช้กล้ามเนื้อหนัก – ออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ ป้องกันโรคปวดเมื่อย

เมื่อบอกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น กับสารพัดอาชีพยอดฮิตแล้ว กูรูด้านสุขภาพ เตือนด้วยความห่วงใย ว่า โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ถือเป็นโรคที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยได้มาก ฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลก็คือ การใส่ใจดูแลกล้ามเนื้อไม่ให้ใช้งานหนัก หรือต่อเนื่องกันนานเกินไป

“การทำงาน ความเครียด หรือแม้แต่การใช้กล้ามเนื้อนานๆ เช่นการขับรถ ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ ซึ่งการเลี่ยงที่จะทำกิจกรรมต่างๆ นั้น อาจทำได้ยาก แต่สิ่งที่คุณสามารถทำได้ก็คือการป้องกันด้วยตัวคุณเอง

ตัวอย่างเช่น คุณทราบแล้วว่า สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อมาจาก การที่คุณใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ นานเกินไป และใช้ไม่ถูกท่า สิ่งที่คุณจะทำได้ก็คือ 1. เลือกท่าที่เหมาะที่สุด เช่นนั่งแล้วสบาย เพื่อคุณจะได้ใช้กล้ามเนื้อได้นานโดยไม่เมื่อย

2. อย่าใช้กล้ามเนื้อต่อเนื่องกันนานเกินไป ถ้าคุณทำอาชีพที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ 8.30 น. เริ่มเปิดเครื่อง กว่าจะลุกจากที่นั่ง 12.00 น. อย่างนี้ไม่ดี ให้เปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ เช่นเริ่มทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ 8.30 น. ผ่านไปสักชั่วโมง พอถึง 9.30 -10.00 น. ก็ลุกไปเข้าห้องน้ำ ไปยืดกล้ามเนื้อ ให้กล้ามเนื้อได้พักบ้าง ถ้าเป็นคุณผู้หญิงไปเข้าห้องน้ำ แทนที่จะใช้เวลา 5 -10 นาทีเติมหน้า ก็ลองเปลี่ยนมาเป็นการยืดไหล่เสียหน่อย บริหารคอเสียหน่อย เพื่อให้กล้ามเนื้อกลับมาใช้ได้นาน”

แม้การผ่อนคลายอิริยาบถขณะทำงาน จะช่วยป้องกันการปวดเมื่อยได้ ทว่าแม้จะป้องกันดีอย่างไร หากเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อขึ้นแล้ว หลายคนเลือกวิธีออกกำลังกายเพื่อแก้ไข กรณีนี้ ผู้เชี่ยวชาญอาการปวดกล้ามเนื้อจากด็อกเตอร์แคร์ฯ ให้ข้อมูลว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ดี แต่ก็ต้องเน้นว่า ควรเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับกล้ามเนื้อเท่านั้น

“หลายคนพอเริ่มเกิดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ เมื่อทานยา หรือแม้แต่ไปพบแพทย์แล้วไม่หาย ก็เลือกที่จะมาออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีที่ถูก แต่อาจยังถูกไม่หมด เพราะถ้าเลือกวิธีออกกำลังกายที่ผิด อาจทำให้อาการปวดแย่ลง เช่น หากคุณปวดกล้ามเนื้อแล้วไปเต้น แอโรบิค (Aerobic) วันต่อมา กล้ามเนื้ออาจจะเกร็งมากขึ้น หรือคุณผู้ชายเลิกงานไปยกดัมเบล (Dumbbell) กล้ามเนื้อก็ยิ่งบอบช้ำ แทนที่จะดีขึ้นกลับแย่ลง

ทั้งนี้การออกกำลังกายที่ดีต่อกล้ามเนื้อก็คือ ทำให้กล้ามเนื้อยืด กีฬาที่บริหารกล้ามเนื้อได้ดีที่สุดคือ ว่ายน้ำ ถ้าทำได้สม่ำเสมอจะดีมาก หรือเล่น โยคะ ก็เป็นอีกการออกกำลังกายที่จะยืดกล้ามเนื้อได้ดี แต่ก็ไม่ถึงกับห้ามเต้นแอโรบิคนะครับ ถ้าคุณอยากเต้นแอโรบิค ก็สามารถทำได้ แต่หลังเต้นเสร็จ แนะว่าควรใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที บริหารในท่ายืดกล้ามเนื้อด้วย เพราะแอโรบิค เป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อหัวใจ แต่ยังไม่ดีต่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อคุณเป็นหนัก หรือมีทริกเกอร์ พอยท์ เกิดขึ้นแล้ว บางครั้ง ยา หรือแม้แต่การออกกำลังยืดกล้ามเนื้อ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะอย่างที่บอกว่า ทริกเกอร์ พอยท์ คือการปวดเกร็งที่กล้ามเนื้อส่วนล่าง การคลายกล้ามเนื้อแค่ส่วนบนจึงไม่เพียงพอ

ดังนั้นท้ายที่สุดหากอาการปวดไม่ดีขึ้น ก็ต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง อาทิ การรักษาแบบ Trigger Point Therapy ที่ด็อกเตอร์แคร์ คลินิก ใช้อยู่ จะเป็นวิธีที่ใช้การรักษาแบบกดไปยังจุด ทริกเกอร์ พอยท์ ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวคลายตัว จนอาการปวดหายไป แต่อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าแม้จะรักษาจนหาย แต่หากยังใช้กล้ามเนื้อหนักต่อ ก็สามารถกลับมาเป็นโรคนี้ได้ตลอด ดังนั้นตัวผู้ป่วยเองก็ต้องดูแล บริหารร่างกาย ตลอดจนเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นด้วย”

*เก็บตก บรรยากาศ งานสัมมนา Hub of Wellness
“เกร็ดเล็กๆ รอบตัวในที่ทำงาน กับการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง”


งานนี้นอกจากจะได้ความรู้เรื่อง “โรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง” เต็มๆ แล้ว แพทย์จากด็อกเตอร์แคร์ คลินิก ยังมาสาธิตการบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อ พร้อมตรวจกล้ามเนื้อหา ทริกเกอร์ พอยท์ ให้ผู้ร่วมสัมมนากันฟรีๆ ด้วย

>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net