By Lady Manager
เพราะเดี๋ยวนี้ คลินิกเสริมความงาม ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ทั้งเลเซอร์ลดรอยดำ, สลายฝ้า, ทำลายขน หรือแม้แต่กระชับผิวหน้าให้เต่งตึง ก็สามารถทำได้ง่าย ทำได้เร็ว …. ทว่าการเสริมสวยใกล้ตัว ที่แม้จะขึ้นชื่อว่าทำในคลินิก จะปลอดภัยแน่หรือ ?
ในงานสัมมนา “เหรียญ 2 ด้านของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเสริมความงามที่ประชาชนต้องรู้จัก” ซึ่งจัดโดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
นายแพทย์อุดมศักดิ์ วงศ์ปารมี คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ในฐานะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้มาบรรยายให้ความรู้ พร้อมเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำทรีตเมนต์-เลเซอร์
เราเลยถือโอกาสเก็บเกี่ยวความรู้มาให้คุณๆ ได้ทราบว่า ก่อนเข้าทำสวยตามคลินิกน่ะ มีเรื่องใดที่ต้องทราบ หรือต้องระวังกันบ้าง
คิดทำทรีตเมนต์-เลเซอร์ ต้องระวังอะไร
“ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเกี่ยวกับความงาม นอกจากเลเซอร์แล้ว ยังมีเทคโนโลยีชนิดอื่นที่นำมาใช้ เช่น IPL(Intense Pulse Light) หรือใช้แสงความเข้มข้นสูงเพื่อช่วยให้หน้าขาวใส ส่วนอีกชนิดที่นำมาใช้กันเยอะ คือ การใช้คลื่นวิทยุ (Radio Frequency) ช่วยยกกระชับผิวหน้า ทำให้ผิวหน้าตึง
คนที่คางย้อยๆ ก็สามารถยกขึ้นได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อฟังคำโฆษณาเพลินๆ เราอาจเห็นแต่รูปที่สวยงาม เวลาเข้าไปคลินิกเหล่านี้ก็หวังว่าจะสวยงามอย่างที่เห็นในโฆษณา แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังความงามนั้น อาจมีบางมุมที่ซ่อนอยู่ เหมือนเหรียญอีกด้าน ซึ่งหากพิจารณาไม่ดี บางคนอาจต้องพบผลข้างเคียงเช่น
– ทรีตเมนต์ IPL อาจเกิดรอยไหม้ดำ, รอยแผลเป็นนูน หรือที่เรียกว่า คีลอยด์ (Keloid) ได้
– เลเซอร์กำจัดไฝ สำหรับบางคนที่มีประวัติว่าเป็นแผลง่าย หากไปทำการรักษาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย ซึ่งกรณีดังกล่าวหากคุณไปทำการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะแนะนำคนไข้ก่อนว่า ไม่ควรทำในตำแหน่งที่เกิดแผลเป็นได้ง่าย
– เลเซอร์ลอกผิว เพื่อรักษาฝ้า หากทำโดยแพทย์ที่ไม่ชำนาญ อาจจะเกิดผลข้างเคียง ทำให้คนไข้ผิวหนังไหม้ พุพอง รวมถึงอาจมีน้ำเหลืองไหลย้อยออกมาได้ ในกรณีที่มีการใช้พลังงาน (ของแสงเลเซอร์) มากเกินไป
– เลเซอร์ลบเลือนฝ้า กระ จุดด่างดำ การใช้เลเซอร์ในกลุ่มของ Q-switched Nd:YAG ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม และโฆษณากันเป็นจำนวนมาก ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ในบางรายอาจพบว่า คนไข้ เกิดทั้งจุดขาว และจุดดำบริเวณที่ทำการรักษา สาเหตุเพราะการยิงเลเซอร์ ที่บางจุดได้พลังงานเลเซอร์น้อยเกินไปทำให้ไปกระตุ้นให้ฝ้ายิ่งดำขึ้น ส่วนจุดที่ขาว ก็เป็นเพราะได้รับพลังงานเลเซอร์มากเกินไป ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีแตกต่างกันไป แทนที่จะหายฝ้า หายจุดด่างดำ ก็กลายเป็นหน้ากระดำกระด่าง ซึ่งสภาวะอย่างนี้ การรักษาให้ผิวกลับมาเรียบเนียนเหมือนเดิมก็เป็นเรื่องยาก
– เลเซอร์กำจัดขน หากทำมากเกินไป อาจเกิดตุ่มพองใสๆ บริเวณรอบเส้นขน และเมื่อตุ่มใสหายไปจะเกิดเป็นแผลดำ เป็นระยะเวลานานกว่าจะกลับมาสู่สภาพปกติ” คุณหมอยกตัวอย่าง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
แพทย์ตัวจริง-อุปกรณ์ได้มาตรฐาน ตัวช่วยให้สวยปลอดภัย
คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง อธิบายต่อว่า หลักการเบื้องต้นที่จะลดความเสี่ยง จากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรักษาด้วยทรีตเมนต์ หรือเลเซอร์ต่างๆ คือ การเลือกรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัวจริง
“วิธีการง่ายๆ ที่จะป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นคือ เราต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ นั่นคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง ซึ่งหลังเรียนจบแพทย์ 6 ปีแล้ว ต้องใช้เวลาเรียนอีก 4 ปี (แพทย์ด้านอายุรกรรม 1 ปี และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 3 ปี) หลังจากผ่านการฝึกอบรมจบแล้ว ก็ต้องไปสอบเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ถ้าสอบผ่านได้วุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) จากแพทยสภา ถึงจะได้เป็นแพทย์เฉพาะทางผิวหนังได้ แต่ปัจจุบันหากเราไปในบางคลินิก เราอาจจะได้เจอแพทย์ที่เป็นแพทย์จบใหม่ คือ เรียนจบแพทย์ 6 ปี ก็ถูกจ้างมาตรวจตามคลินิก ซึ่งแพทย์ที่จบ 6 ปี อาจมีความรู้ไม่เพียงพอ เหตุการณ์ผิดพลาดต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้
แต่หากเป็นแพทย์เฉพาะทาง ที่ไปเรียนต่อยอดด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันในประเทศ หรือต่างประเทศ (จนได้วุฒิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง หรือ Dermatologist) ก็จะเป็นตัวการันตีหนึ่ง ที่จะทำให้ผลข้างเคียงที่เกิดน้อยลงได้
ส่วนคำถามที่ว่าจะทราบได้อย่างไรว่า ผู้ที่รักษาท่านอยู่นั้นเป็นแพทย์จริง ๆ หรือไม่ ขั้นแรก คือ เราสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์แพทยสภา เพื่อตรวจดูขั้นต้นได้ว่า แพทย์ท่านนั้นเป็นแพทย์จริงหรือเปล่า และหากอยากทราบว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังหรือไม่ ก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ที่จะมีการรวบรวมรายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ที่ได้รับ วุฒิบัตรฯ หรือ หนังสืออนุมัติ ฯ สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) จากแพทยสภา แสดงไว้ให้ทราบ
อีกส่วนคือ การเลือกเครื่องมือ เน้นว่าเครื่องมือที่ใช้ต้องผ่านมาตรฐานทางวิชาการของอย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ซึ่งจะสามารถรับรองได้ในระดับหนึ่งว่าผลข้างเคียงน้อย แต่แม้ว่าเครื่องที่ผ่านอย. ก็จริง แต่หากแพทย์ไม่มีความรู้เพียงพอ ก็อาจจะเกิดผลข้างเคียงขึ้นมาได้”
เผย! แพทย์ผิวหนังตัวจริง มีไม่มาก
คุณหมอผู้ดำรงตำแหน่งอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ยังให้ข้อมูลที่น่าตกใจด้วยว่า แม้ทุกวันนี้เราจะเห็นคลินิกเสริมความงามทยอยเปิดตัวเปิดสาขามากขึ้นเรื่อย ๆ นับพันแห่ง ทว่าแท้จริงแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังที่จบในประเทศไทยกลับมีไม่ถึง 500 ท่าน
“ปัจจุบันมีแพย์ที่เป็นแพทย์ผิวหนังจริง ๆ ที่ได้รับวุฒิบัตรฯ หรือ หนังสืออนุมัติฯ สาขาตจวิทยา จากแพทยสภา มีเพียง 486 คนเท่านั้น ไม่ได้เยอะ และใน 486 คนนั้น น่าจะมีอยู่ประมาณ 50-60 ท่าน ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพด้านเวชกรรมแล้ว (คือ เลิกรักษาคนไข้แล้ว) ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว หมอผิวหนังไม่ได้มีมาก”คุณหมออุดมศักดิ์ อธิบายปิดท้าย
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net