Celeb Online

“ทุกคนต้องการความเป็นเซเลบ”! IG ตอบโจทย์?! คนดังดูเป็นคนธรรมดา คนธรรมดาดูเป็นคนดัง!

By Lady Manager

โดนใจกันไปตามๆ กันกับมุมมองการตีแผ่เฉียบคมของนักวิชาการด้านสื่อ คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ จากสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ไทยพีบีเอส กับประเด็นดาราพริตตี้ใช้อินสตาแกรมเป็นเครื่องมือโฆษณาการดูดไขมันทางอ้อม กระแสดูดไขมันโชว์โจ๋งครึ่มว่อนอินสตาแกรม! แห่ดูดตามดารา ระวังเดี้ยง ดับ

ยังไม่อิ่มค่ะ

วันนี้คุณธามจะมาวิเคราะห์ให้เราเปิดสมองประเทืองปัญญากันอีก ชนิดล้วงเจาะเข้าไปลึกๆ ว่าเจ้าอินสตาแกรมตอบสนองมนุษย์เราอะไรกันนักหนาหรือ? …ตอบโจทย์ใคร?…ในมุมไหน?

สนอง! ทุกคนอยากเป็นเซเลบ

ทุกคนต้องการเป็น somebody ในสังคม ต้องการความเป็นเซเลบ มันเป็นวัฒนธรรมเซเลบ หมายถึง ฉันอยากเป็นคนดังบ้าง

ทฤษฎีนี้ถ้าตรงตามทฤษฎีของ แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) นักป็อปคัลเจอร์ (Pop Culture) ของอเมริกา แอนดี้ วอร์ฮอล เขาบอกว่าไว้ว่า ‘In the future everyone will be famous for fifteen minutes’ ทุกๆ คนในชีวิตนี้ อยากจะมีช่วงชีวิตที่โด่งดังบ้างสัก 15 นาทีก็ยังดีเหอะ

แม้ปัจจุบันแอนดี้ วอร์ฮอล เสียชีวิตไปแล้ว ทว่าสิ่งที่เขาเคยเอ่ยไว้ ก็เป๊ะเลย คุณธามกล่าวต่อว่า

“แต่ในสมัยนี้ไม่ใช่แค่อยากดังแค่ 15 นาที แต่ทุกคนสามารถดังแบบออนไลน์ได้ ดังนั้นทฤษฎีนี้ก็ต้องเปลี่ยนแล้ว ไม่ใช่แค่ 15 นาที แต่ทั้งวัน”

คนดังดูเป็นคนธรรมดา คนธรรมดาดูเป็นคนดัง

“อินสตาแกรมกลายเป็นเทคโนโลยีที่เป็นกลาง เพราะใครๆ ก็สามารถใช้มันได้ คือไม่ใช่เทคโนโลยีที่มีราคาแพง หรือจำกัดเฉพาะชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง”

คุณธาม วิจารณ์เจ้าแอปฯอินสตาแกรมต่อว่า

“ความขัดแย้งของอินสตาแกรมมี 2 อย่าง มันทำให้ -คนดังดูเป็นคนธรรมดา- คุณเห็นเจนี่ไปเล่นโยคะ คุณเห็นเจนี่หน้าสดๆ ส่วนที่มันขัดแย้งกันคือ -มันทำให้คนธรรมดาดูเป็นคนดัง-

นี่คือความขัดแย้งของเทคโนโลยีอินสตาแกรม

ไม่ว่าอินสตาแกรม เฟสบุ๊ก หรือยูทูป มันอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมเซเลบ วัฒนธรรมคนดัง

เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า เส้นแบ่งระหว่างคนดังกับคนธรรมดา กลืนหายไป คือ เส้นมันเบลอมากขึ้น ฉะนั้นเวลาที่เราพูดเรื่องข้อดีข้อเสีย

ข้อดีคือ อินสตาแกรมใช้ในการสื่อสารใกล้ชิด มีแฟนคลับ

อยู่ที่ “message” สามารถสร้างค่านิยมผิดๆ

ส่วนข้อเสีย คุณธามพูดลงรายละเอียด

“ในทางกลับกัน ที่แย่ก็คือ ใช้ในการสร้างค่านิยมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม..ก็ทำได้ เช่น ดารานักร้องที่ชอบโชว์ภาพวาบหวิวหน่อยโพสรูปใส่บิกินี่เดินในบ้านหรือปาร์ตี้อยู่กับเพื่อนๆ แฮงก์เอาท์ปาร์ตี้กันหน่อย คนก็จะรู้สึกว่า เออ มันธรรมดา

คุณเลยจะเห็นว่าปัจจุบันนี้ภาพเด็กนักเรียนมัธยมตอนปลายไปแฮงก์เอ้าท์ปาร์ตี้ในกันหอพัก อยู่ในสภาพหวิวๆ เล็กน้อย เพราะคนก็รู้สึกว่าดาราก็ทำได้ ฉะนั้นขึ้นอยู่กับ message ที่จะสื่อสาร หากใช้เพื่อการค้า หรือการส่งเสริมค่านิยมบางอย่างที่ไม่ควร เช่น ภาพดาราสูบบุหรี่ และมีคน follow เยอะมาก”

มูลค่าความเป็นดารา ตอบโจทย์ผลประโยชน์ทางธุรกิจ

“และใช้เป็นกระแส ตอบโจทย์ในทางธุรกิจ” อีกจุดแย่ ซึ่งคุณธามอธิบายต่อ

“ดาราเขาต้องใช้อินสตาแกรมค่อนข้างมาก เพราะว่ามูลค่าของการเป็นบุคคลสาธารณะเดี๋ยวนี้มันมีสูง ทั้งต้นทุนของในจอโทรทัศน์ ในจอละคร ในจอภาพยนตร์ กับในจอมือถือที่เป็นภาพลับๆ ในอินสตาแกรม

ลองนักข่าวไปแอบถ่ายดาราทำโยคะแล้วเอามาลงหนังสือพิมพ์บันเทิงดูสิ คุณก็จะโดนข้อหาละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

แต่เดี๋ยวนี้ดาราไม่แคร์แล้ว เพราะว่าความเป็นส่วนตัวขายได้ดี และมีต้นทุนต่อยอด มันเป็นต้นทุนในการขายความเป็นบุคคลสาธารณะ ขายทั้งบริบทของความเป็นดาราในพื้นที่สาธารณะ และขายพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ไม่ให้คนลืม หรือว่าดาราไปอัพหน้ามาใหม่ก็ต้องอัพหน้าในอินสตาแกรมใหม่ แล้วคนก็ดูว่าทำไมสวยขึ้น อุ้ย ไปทำที่ไหนมา พอสวยขึ้นก็จะเป็นช่องทางตอบโจทย์ในเรื่องผลประโยชน์ทั้งในเรื่องธุรกิจ เรื่องส่วนตัว ทั้งเรื่องของการสร้างการยอมรับทางสังคมด้วยนะ

ข้อดีของอินสตาแกรมใครๆ ก็สามารถใช้ได้ มันตอบโจทย์คนสาธารณะอยู่เดิม ดารา นักการเมือง นักร้อง อินสตาแกรมตอบโจทย์บุคคลสาธารณะ และตอบโจทย์บุคคลที่อยากเป็น somebody อยากเป็นบุคคลสาธารณะ และสุดท้ายข้อดีคือ มันตอบโจทย์ในเรื่องของความใกล้ชิด แต่ก่อนคุณไม่รู้ชีวิตดารา คุณไม่เข้าใจชีวิตหน้าจอหลังจอ

ที่สำคัญ อาจจะมีตอบโจทย์ว่าสื่อมวลชนแต่ก่อนบิดเบือนข้อเท็จจริง ชีวิตในจอเขาเป็นนางร้าย แต่จริงๆ เขาเป็นคนดีมากเลยนะ ดาราเขาจึงต้องตอบภาพลักษณ์ในจอกับภาพลักษณ์นอกจอ ข้อดีอาจทำให้แฟนๆ มีความเข้าใจ เห็นภาพชัดเจน ว่าดาราก็เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันคนธรรมดาก็สามารถเป็นดาราได้เหมือนกัน
ลิกอ่าน “วัยรุ่นไทยเลียนแบบดารา” ค่านิยมที่สังคมต้องตั้งคำถาม!
 

>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net