โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ให้มีเหตุได้พบกับญาติที่เป็นคุณหมอสูติฯ ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเล่าเรื่องน่าสนใจให้ฟังว่าเคยพบคนไข้หนุ่มแน่นล่ำสันแต่ไม่อยากเจาะเลือด ด้วยเหตุผลที่น่าเห็นใจคือ “กลัวเข็ม”
หนุ่มตัวล่ำกับเข็มเล่มจิ๊ด—เรื่องนี้เป็นเรื่องเข้าใจได้ครับ เชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนไหนอยากเจ็บโดยไม่จำเป็น ซึ่งผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบเข็มนักหากไม่มีเหตุจำเป็น เช่น ต้องตรวจร่างกายประจำปี ก็อยากห่างบรรดาของมีคมทั้งหลายไว้เหมือนกัน
ยกเว้นวันที่จำเป็นต้องเย็บแผลหรือฉีดยาให้คนไข้
แล้วก็ให้รู้สึกเห็นใจทุกครั้งที่ได้ยินเสียงครวญว่ากลัวหรือบางท่านถึงขั้น “เป็นลม” ซึ่งเรื่องที่ว่านี้อาจดูไม่ใหญ่โตนัก แต่ท่านที่รักทราบไหมครับว่าความกลัวจัดๆ ถึงขั้นนั้น
มันอาจเอาชีวิตเราได้
ในสารบบโรคหัวใจมีที่น่าสนใจอยู่โรคหนึ่งซึ่งผมขอเรียกว่า “โรคใจสลาย (Takotsubo cardiomyopathy)” ซึ่งโรคหัวใจที่พิสูจน์แล้วว่ามาจากความเครียด, ความโกรธ และ “ความเจ็บ” ที่รุนแรงเป็นสำคัญ
ไม่ใช่โรคอุปาทานเพราะมันทำให้หัวใจล้มเหลวปุบปับไปได้ครับ
แม้จะพบไม่บ่อยนักก็ตาม
ดังนั้นสำหรับมนุษย์ผู้รักเข็มไม่มากนัก มีหลักง่ายๆ อยู่อย่างหนึ่ง คือ ขอให้คิดว่าถ้ามันมีข้อบ่งชี้มันก็เป็นประโยชน์กับคนไข้ และคุณหมอทุกท่านก็คงหวังดีอยากให้เราหาย เพียงแต่มันต้องแลกด้วยความไม่สบายตัวเล็กๆ น้อยๆ บ้าง
หลายท่านว่าอย่างน้อยขอให้ “เจ็บแล้วหาย” ก็ยินดี ซึ่งขอให้ท่านที่รักมีความหวังในใจเช่นนี้ไว้เสมอจะได้ช่วยให้ “เจ็บแล้วจบ” ไม่ต้องพบกับความกลัวยืดยาวที่ทำให้กลัวเข็มในครั้งต่อๆ ไป ดังต่อไปนี้
1) เคยมีประสบการณ์เจ็บปวด ซึ่งเรื่องนี้น่าเห็นใจจริงครับ เพราะการใช้เข็มผ่านร่างกายไม่ได้มีเฉพาะเจาะเลือดแต่การ “เจาะไขกระดูก” ก็ใช้เข็มและทำให้เจ็บได้มากกว่าเจาะเลือด หรือการ “เจาะหลัง” หรือ “บล็อกหลัง” ที่เป็นการช่วยท่านก็ต้องนอนตะแคงหลังให้คุณหมอใช้เข็มแทงเช่นกัน
2) เคยเจอเรื่องไม่ประทับใจ เช่น เจาะเลือดหลายครั้ง หาเส้นเลือดไม่เจอเสียที ถูกทิ่มหลายที เคยโดนเข็มเล่มโตเอาเลือดออกหรือถูกเจาะเลือดปลายนิ้วซ้ำๆ แทบทุกชั่วโมงตอนเป็น “ไข้เลือดออก” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่ช่วยท่านแต่กระนั้นก็น่าเห็นใจที่หลายคนกลัวฝังใจมาตั้งแต่เด็ก เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ครับ
3) ฝังใจวัยเด็ก ดังที่บอกไปว่าความฝังใจวัยเด็กสำคัญ ในวัยนั้นหากท่านต้องประสบพิธีกรรมที่ไม่ธรรมดาอาทิ ถูกจับ “พันมัมมี่” คือ เอาผ้าห่มมาพันตัวเพื่อเจาะเลือดหรือแทงน้ำเกลือ หรือถูกฉีดวัคซีนจนร้องจ๊ากแล้วเดินปวดหรือบวมเป็นก้อนไปหลายวัน สิ่งเหล่านั้นอาจฝังใจมาจนโตทำให้กังวลเมื่อต้องพบกับ “เพื่อนเก่า” อีกครั้ง
4) ไม่เคยเสียเลือด คนที่ไม่เคยหลั่งเลือดในยุทธภพอาจ “หวั่นไหว” ได้ง่ายกว่าเมื่อเห็นเลือด ว่ากันว่าบุรุษหลายท่านกลัวการเจาะเลือด ซึ่งเชื่อกันว่าส่วนหนึ่งมาจากการเป็นเพศที่ไม่ต้องเห็นเลือด(ประจำเดือน)ทุกเดือน เช่นสตรี แต่ก็ใช่ว่าหนุ่มๆ ทุกคนจะเป็นนะครับ เรื่องนี้เป็นเพียงสมมติฐานที่เกิดกับบางคนเท่านั้น
5) มีความวิตกกังวลสูง คนที่มีภาวะวิตกกังวลสูง เครียดง่าย อาจทำให้การเจาะเลือดนั้นรู้สึก “เจ็บ” กว่าปกติทั่วไปเพราะร่างกายจะพุ่งเป้าความสนใจมาที่สิ่งกังวล หรือในบางคนที่มีอาการทางจิตเวชอาจรู้สึก “ไว” ขึ้นกว่าคนปกติจึงทำให้กลัวการเจาะตรวจตามที่ต่างๆ ของร่างกาย คิดง่ายๆ เหมือนยิ่งไปสนใจมันก็ยิ่งรู้สึกมากนั่นเองครับ
6) กลัวที่จะรู้ หมายถึง รู้ผลของเลือดนั้นครับ หลายท่านอ้างเหตุผลต่างๆ ของการไม่เจาะเลือดเพราะ “กลัวจะรู้” เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ครับ เพราะทุกคนทราบดีอยู่ในใจว่าการเจาะเลือดตรวจสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากเห็นผลที่ออกมา เป็นกรณีกลัวๆ กล้าๆ น่าเห็นใจอยู่ครับ
7) กลัวความเสี่ยงสารพัด บางท่านกลัวเจ็บแต่กลัว “เสี่ยงจากเข็ม” เช่น เสี่ยงติดเอดส์จากปลายเข็ม เสี่ยงติดเชื้อโรคเข้ากระแสเลือด ซึ่งพบได้แต่น้อยถึงน้อยมากครับ ที่สำคัญก็คือ ปัจจุบันใช้เข็มที่ “ปลอดเชื้อ(Sterile needle)” ทั้งเข็มเจาะเลือด, ฉีดยา,ให้น้ำเกลือ และเข็มอื่นๆ แถมเมื่อใช้แล้วก็ทิ้งขาดเลยครับไม่มีเวียนเทียนแน่
8) ถูกบังคับให้มาเจาะเลือด ความกลัวที่มาจากการถูกบังคับอย่างไม่เต็มใจยิ่งนี้อาจสะสมจนเป็นความกลัวในที่สุด เรื่องนี้พบบ่อยในเด็ก, ผู้ใหญ่ที่ต้องตรวจสุขภาพประจำปีหรือคนที่ต้องเจาะเลือดก่อนเข้าทำงาน เป็นการเจาะด้วยความจำเป็นและ “จำใจ” เลยอาจทำให้ “เจ็บจี๊ด” ครับ
9) กลัวเพราะเป็นคนที่รัก คนเราย่อมรักตัวเองเป็นสำคัญตามสัญชาตญาณธรรมชาติ แต่ก็สามารถรักคนอื่นได้มากกว่าตัวเองนั่นคือ “ลูก” ครับ ได้สังเกตทุกครั้งเวลาฉีดวัคซีนให้เด็ก คนไข้ที่ว่ากลัวแล้วยังน้อยกว่าคุณพ่อคุณแม่ที่เห็นลูกถูกฉีดยา เวลาที่เห็นลูกเจ็บนั้นแทบอยากเจ็บแทน นี่คือหัวใจอันประเสริฐของบุพการีที่บางครั้งจึงดูเหมือนไม่กล้าช่วยจับเด็กเวลาฉีดยา เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจครับ
10) รู้สึกว่าอาการยังไม่หนักขนาดนั้น ประการสุดท้ายที่อาจทำให้กลัวได้คือ รู้สึกว่าอาการยังไม่หนักขนาดถึงต้อง “ลงเข็ม” หรือ “ลงมีด” กัน มันทำให้คนปกติอย่างเราๆ กลัวได้นะครับยามที่ถูกบอกว่าต้องเจาะเลือด หรือแม้แต่ฉีดยาชาเพื่อถอดเล็บเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันชวนให้คนที่รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงดีมีอาการ “หวั่น” ได้เหมือนกัน
การใช้เข็มทิ่มแทงร่างกายทางการแพทย์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเจาะเลือด, ฉีดยา,ให้น้ำเกลือ, เจาะหลัง, ฝังเข็ม ฯลฯ ล้วนทำไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลสำคัญที่สุดคือ “คนไข้” ครับ
แต่เรื่องของความกลัวเจ็บและกลัวอันตรายนี้ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่ล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์กลัวเจ็บกลัวตาย ไม่ว่าใครก็มีอารมณ์นี้ได้ทั้งนั้น จึงเป็นผู้ที่พึงเห็นใจด้วยกันทั้งสิ้น
เป็นความกลัวที่เข้าใจได้ครับ
* ช่วยคลิก Like ด้วยนะคะ เพื่อเป็นแฟนเพจ Lady Manager รับข่าวสารแซ่บๆ ของผู้หญิงในแวดวงสุขภาพความงาม แฟชั่น และความสัมพันธ์ (**)
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net