Celeb Online

“อาซาว่า-วิคธีร์รัฐ-ทีแอนด์ที” อวดคอลเลกชันแสดงตัวตน


อัปเดตเทรนด์รับลมหนาวกับ 3 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ ที่เพิ่งจัดแฟชั่วโชว์อวดผลงานจากคอลเลกชันออทัม–วินเทอร์ 2022 ที่ต่างหยิบยกแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวมาถ่ายทอดบนโครงชุดในรูปแบบต่างๆ


เริ่มที่ “หมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา” ผู้ก่อตั้ง Asava Group กับนิยามใหม่ “Time to focus on what matters” ถ่ายทอดมุมมองและความหมายของคำว่า ‘โฟกัส’ อันเกิดจากการพินิจและสำรวจลงไปถึงแก่นแท้ของรากฐานที่แท้จริงของแบรนด์ ที่เปรียบเสมือนการกำหนดรูปแบบและวิถีการใช้ชีวิต ให้เราไม่ไขว้เขวไปตามการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งเร้า เพราะเทรนด์แฟชั่นอาจไม่สำคัญเท่าสไตล์ หรืออัตลักษณ์เฉพาะบุคคล เช่นเดียวกับวิธีการทำงานของแบรนด์ที่เริ่มจากจุดตั้งต้นของปรัชญาที่ชัดเจน และพัฒนารูปแบบของผลงานให้มีความหลากหลายบนพื้นฐานของความเรียบง่าย ละเอียดอ่อน แต่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และตัวตนของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน ผสานกับแนวคิดของผู้หญิงในแบบฉบับอาซาว่า ที่ยึดมั่นและโฟกัสในตัวตนและความปรารถนาที่แท้จริง ผ่านการดำเนินชีวิตในแบบที่ตนเองเป็นผู้กำหนด


“อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์” ผอ.ฝ่ายสร้างสรรค์แบรนด์ VICKTEERUT (วิคธีร์รัฐ) เล่าเรื่องราวในจินตนาการที่มีฉากหลังเป็นเมืองใหญ่ยามค่ำคืน มีถนนวุ่นวาย ซอยเปลี่ยวมืดสลัว อุโมงค์ข้ามถนนที่ไฟติดๆ ดับๆ ผนังอุโมงค์ปูด้วยกระเบื้องสี่เหลี่ยมลวดลายกราฟิก และมีทางเดินเท้าคอนกรีตที่เต็มไปด้วยฝุ่น แถมมีเพียงแก๊งสาวแสบที่ทั้งสวย เปรี้ยว ซ่า อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เย็นชาและไม่เป็นมิตร ในคอนเซ็ปต์ “Hazy Ground” Collection แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของหญิงสาว ด้วยซิลลูเอทสุดเซ็กซี่ เข้ารูป เน้นสรีระ และเผยผิวได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งยังหยิบเอาความแข็งแรงมาล้อเข้ากับความนุ่มนวลได้อย่างลงตัว แสดงออกได้ถึงพลังที่แข็งแกร่งของผู้หญิง


ทีแอนด์ที (TandT) พาย้อนกลับไปสู่วัยเด็กของ “นุ๊ก-ธนาวุฒิ ธนสารวิมล” ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ประจำแบรนด์ ที่เลือกพูดถึงความรักที่มีต่อ “ตุ๊กตากระดาษ” ที่เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เขาโตขึ้นมาเป็นคนทำเสื้อผ้าให้กับผู้หญิง ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และเพื่อย้อนรำลึกถึงของเล่นวัยเด็ก ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในงานที่ทำ นำเสนอเสน่ห์ของความเฟมินีน สะท้อนผ่านการวาดโครงเสื้อผ้าด้วยเส้นกรอบนอกสีดำ ด้วยการเดินกด รูดระบาย และประกอบขึ้นมาเป็นโครงสร้างชุด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ ทีแอนด์ที จากนั้นนำมาสวมทับบนโครงชุดที่มีความพองและบาน พร้อมการสอดแทรกลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ จากรายละเอียดของตุ๊กตากระดาษที่มีเพียงแค่มิติเดียวให้เห็นสมบูรณ์เพียงด้านหน้า แต่ด้านหลังถูกตัดแบน ทำให้เกิดเป็นลูกเล่นของชุดที่ชิ้นหน้าและชิ้นหลังแตกต่างกันเหมือนกับใส่เสื้อผ้าต่างชิ้น โดยของตกแต่งหลักบนเสื้อผ้าคอลเลกชันนี้ ได้แก่ “โบว์” สัญลักษณ์ของการผูกหรือการมัด เช่นเดียวกับเวลาที่เราสวมใส่เสื้อผ้าให้ตุ๊กตากระดาษด้วยการสอดหรือพับมุมกระดาษ เพื่อให้ตัวชุดถูกผูกติดกับตัวตุ๊กตา