สมเด็จพระราชินีอังกฤษ พระราชทานเหรียญเกียรติยศ เนื่องในวันปีใหม่ 2021 โดยรายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ฯ ในปีนี้ส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่ช่วยกันนำพาสหราชอาณาจักรให้ผ่านพ้นภัยของโรคติดต่อ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นหน่วยแพทย์ พยาบาล ผู้นำชุมชน ฯลฯ
ระวี ปณต ผู้นำชุมชนเอเชียในย่านลอนดอนตะวันออก คือคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานเหรียญเกียรติยศชั้น MBE ระวี เป็นชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชุมชนชาวเอเชียใต้ในย่านนี้มานับ 10 ปีแล้ว
ในปี 2017 ระวี พบว่า ภายในชุมชนคนเชื้อสายอินเดียด้วยกัน เกิดโรคหัวใจกันมาก เขาเลยก่อตั้งหน่วยกู้ภัยฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะ ที่สามารถสื่อสารภาษาเอเชียใต้ทั้ง 4 ภาษาได้ขึ้นมา ซึ่งหน่วยซีพีอาร์นี้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้กับโรค COVID-19 ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ของลอนดอน
คุณหมอทามาส ซ้าคมานี แพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลในเวลส์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานเหรียญเกียรติยศชั้น MBE จากการทุ่มเททำงานหนักรักษาคนป่วยจาก COVID-19 มากกว่า 50 รายที่รอดตายหายป่วยด้วยน้ำมือของหมอทามาส โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยขั้นรุนแรงทั้งสิ้น
ดร.ทามาส บอกว่า เขาไม่อาจจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ได้ หากปราศจากทีมแพทย์-พยาบาลที่ร่วมงานด้วย “ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับพระราชทางรางวัลเกียรติยศ ปีนี้เป็นปีที่หนักหนาจริงๆ ของวงการแพทย์ แต่พวกเราไม่กลัวความยากลำบาก และพยายามเรียนรู้ไปกับมัน ในที่สุดเราก็จะผ่านพ้นไปให้ได้”
สำหรับ ซามาห์ คาลิค ผู้นำยุวชนผิวสีในเมืองโอลด์แฮม เป็นผู้ได้รับพระราชทานเหรียญเกียรติยศ ประจำปีใหม่ 2021 ที่อายุน้อยที่สุด
ซามาห์ บอกว่า เธอกรี๊ดสุดๆ เมื่อเห็นตัวเองในรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเหรียญเกียรติยศ “ฉันมองว่า การระบาดของโรค COVID-19 เป็นโอกาสให้ฉันได้อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ฉันต้องการเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยกัน พวกเราควรมีบทบาทที่จะขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นได้”
ในขณะที่หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอโอกาสที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะในช่วงปีใหม่ หรือในวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ที่ 2 ก็ตาม แต่ในอดีตที่ผ่านมา คนที่ได้รับการเสนอชื่อแต่ไม่ขอรับเหรียญเกียรติยศ บ้างมารับพระราชทานแล้วถวายคืนก็มีมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น เชฟสาวสวย ไนเจลล่า ลอว์สัน ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ชั้น OBE ในปี 2001 แต่เธอไม่ไปรับ เพราะเห็นว่า “ฉันไม่ได้ช่วยชีวิตใคร ฉันแค่ทำในสิ่งที่ฉันรัก และไม่รู้สึกว่าทรงเกียรติอะไรเลย”
ขณะที่ ดาวิด โบวี่ ก็ออกมาอธิบายว่า ที่ไม่รับพระราชทานเครื่องราชย์นั้น เพราะตัดสินใจว่า ไม่อยากจะเป็นหนึ่งใน “อัศวินนักดนตรี” เหมือน เซอร์มิค แจ๊กเกอร์ เซอร์พอล แมคคาร์ตนีย์ และเซอร์เอลตัน จอห์น “ผมไม่รู้ว่าชื่อผมควรจะมี เซอร์ นำหน้าไปเพื่ออะไรน่ะ มันไม่ใช่จุดมุ่งหมายในการทำงานดนตรีของผมเลย แต่ผมไม่ได้ไปตัดสินการเป็นเซอร์ของนักดนตรีคนอื่นนะ”
ในกลุ่มนักดนตรีดังๆ ก็ยังมี 2 สมาชิกของวง เดอะ บีเทิ่ลส์ ทั้ง จอร์จ แฮร์ริสัน และจอห์น เลนนอน ที่ปฏิเสธรางวัลเกียรติยศพระราชทานชั้นอัศวิน หลังจากที่เซอร์พอล แมคคาร์ตนีย์ รับพระราชทานไปก่อนหน้านี้ และทั้ง 2 คนก็ล้อเลียนเขาอยู่นานหลายปีเลย
นักวิทยาศาสตร์คนดังอย่าง สตีเวน ฮอว์กิง ได้รับพระราชทานรางวัลเกียรติยศชั้นอัศวินในปลายทศวรรษที่ 1990 แต่เขาปฏิเสธที่จะขอรับพระราชทานฯ โดยขอเปลี่ยนเป็นเงินทุนสำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังจะดีกว่า
ขณะที่ ผลงานพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน ปี 2012 ในกรุงลอนดอน ทำให้ชื่อของ แดนนี้ บอยล์ ผู้กำกับชื่อดังอยู่ในข่ายของผู้ทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติ แต่เขาปฏิเสธที่จะรับพระราชานรางวัลอังทรงเกียรติ “นี่เป็นผลงานของทีมทุกๆ คน รางวัลมันไม่น่าจะเป็นของผมคนเดียว”