หลายๆ แอพพลิเคชั่นที่ใช้กันอย่างคุ้นเคยอยู่ทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ แบบสตาร์ทอัพ เริ่มจากขายไอเดีย ระดมทุน พัฒนาออกมาให้บริการจนโดนใจ ได้ประโยชน์ตรงความต้องการ สร้างให้นักสตาร์ทอัพกลายเป็นมหาเศรษฐี
Grab
จุดเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่ แอนโทนี ตัน ผู้ก่อตั้งชาวมาเลเซียที่ต้องการเครื่องมือออนไลน์ในการเรียกรถแท็กซี่ แรกเริ่มเดิมทีตั้งชื่อว่า MyTeksi ก่อตั้งในปี ร่วมกับเพื่อนนักเรียนฮาร์วาร์ดด้วยกันอย่าง ตันฮุยหลิน โดยแอนโทนี อาศัยการเดินทางไปเคาะประตูบริษัทให้บริการแท็กซี่ให้มาเข้าร่วมในบริการนี้ด้วยตัวเอง
พอหาพันธมิตรได้ 5 บริษัท กับรถแท็กซี่ราว 30 คัน เขาก็เริ่มทดลองเปิดให้บริการทันที 14 เดือนต่อมาบริษัทของเขามีมูลค่าขึ้นมาถึง 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น GrabTaxi และขยายบริการเป็น 30 เมืองใน 6 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน GrabTaxi เปลี่ยนชื่อเป็น Grab ให้บริการใน 8 ประเทศ มีทั้งบริการแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ ส่งของ ส่งอาหาร รวมทั้งให้บริการทางการเงิน โดยบริษัทได้รับเงินทุนมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนอย่างซอฟต์แบงก์ อาลีบาบา โตโยต้า ฯลฯ และได้ซื้อกิจการของอูเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเพิ่มมูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ล้านดอลลาร์
Airbnb
สำหรับคนชอบเที่ยวที่นิยมที่พักซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะประจำถิ่นทั่วโลก ต้องรู้จัก Airbnb แอพพลิเคชันรวมที่พักและประสบการณ์ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจองพักแรมในปราสาทยุคกลางสัก 1 คืน หรืออยากจะล่องเรือยาชต์สัก 1 สัปดาห์ Airbnb มีรายการให้เลือกจองเฉียด 5 ล้านบริการ ใน 191 ประเทศทั่วโลก
Airbnb ก่อตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2008 โดย ไบรอัน เชสกี เนทาน เบิลชาร์ชีค และโจ เก๊บเบีย ในซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย เริ่มจากการที่ไบรอันและโจ ซึ่งเป็นรูมเมทกัน ต้องการหาคนมาแชร์ค่าอพาร์ตเมนต์ของพวกเขา เลยเปิดให้เช่าห้องนั่งเล่นที่อพาร์ตเมนต์ให้คนมาพักได้ เนทาน อดีตรูมเมทอีกคนชื่นชอบไอเดียนี้ เลยขอเข้ามามีส่วนร่วม โดยตั้งชื่อว่า AirBed & Breakfast
พวกเขาเริ่มออกเว็บไซต์ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Airbnb ในต้นปี 2009 พอเดือนมีนาคมปีเดียวกันก็มีสมาชิกถึง 1 หมื่นคน กับบริการ 2,500 แห่งให้จอง ขณะที่เดือนถัดมาพวกเขาได้เงินสนับสนุนก้อนโตจากนักลงทุนที่สนใจ พร้อมยอดการจอง 7 แสนคืน หรือเติบโตขึ้น 80% ปัจจุบันกลายเป็นบริการรับจองประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบเต็มรูปแบบ ที่มีผู้คนทั่วโลกกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกใช้บริการ
Airbnb เติบโตอย่างต่อเนื่อง กับผลกำไรปีละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านดอลลาร์ ทว่า ด้วยการระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ทำให้การท่องเที่ยวและบริการต่างๆ หยุดชะงัก จนไบรอัน ในฐานะซีโอต้องออกมาประกาศเลย์ออฟพนักงาน ก่อนจะตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัท Airbnb ต่อไป
Skyscanner
ก่อนที่ Skyscanner จะกลายเป็นของกลุ่ม Trip.com Group เอเยนซีท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในจีน บริษัทมีจุดเริ่มต้นที่เมืองเอดินเบอระห์ ในสกอตแลนด์ โดยแกเรท วิลเลียมส์ แบร์รี สมิท และโบนามี ไกรมส์ เกิดจากการที่แกเรทรู้สึกว่าการหาเที่ยวบินถูกๆ ไปยังสกีรีสอร์ตทำไมมันยากเย็นเหลือเกิน
พวกเขาออกแบบเว็บสไตล์ เมตาเสิร์ชเอนจิน เป็นโปรแกรมค้นหาที่ไม่มีฐานข้อมูลของตัวเอง แต่ค้นหาจากฐานข้อมูลของโปรแกรมค้นหาอื่น ที่มีผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการที่สุดจากโปรแกรมค้นหาหลายโปรแกรมในเวลาอันรวดเร็ว
จากไอเดียปี 2002 เริ่มเป็นรูปร่างในปี 2003 และมีออฟฟิศในเอดินเบอระห์ในปี 2004 Skyscanner ได้ทุน 2.5 ล้านปอนด์จากองค์กรไม่หวังผลกำไรในสกอตแลนด์ ปี 2008 และปีต่อมาก็เริ่มมีผลกำไร
Skyscanner ขยายกิจการมาสู่เอเชียแปซิฟิก ในปี 2011 และเริ่มเป็นพันธมิตรกับ Baidu โปรแกรมค้นหาที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเมื่อไปเปิดตัวที่อเมริกา มูลค่าของบริษัทก็พุ่งขึ้นไปถึง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐทันที
ในปี Trip.com Group หรือ Ctrip บริษัทท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในจีน ซื้อ Skyscanner ไปในราคา 1,750 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันให้บริการใน 30 ภาษา กับจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 70 ล้านคนต่อเดือน
Netflix
มาร์ค แรนดอล์ฟ กับ รี้ด แฮสติ้ง ร่วมกันก่อตั้ง Netflix ขึ้นมาเมื่อปี 1997 ในสกอตส์ วัลลีย์ แคลิฟอร์เนีย โดยปิ๊งไอเดียขึ้นมาระหว่างกำลังแชทคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้
มาร์ค ชื่นชอบแพลตฟอร์มธุรกิจอี-คอมเมิร์ชแบบ Amazon มาก จึงนำไอเดียการขายหรือเช่าดีวีดีออนไลน์มาขายรี้ด ซึ่งเป็นนายเก่าของเขา ที่ออกทุนตั้งต้นให้ 2.5 ล้านดอลลาร์
ก่อนที่จะตัดสินใจขายบริษัทซอฟต์แวร์ของเขา เพียว แอทเรีย ไปในราคา 700 ล้านดอลลาร์ แล้วมาจริงจังกับ Netflix ที่เริ่มขายและให้เช่าหนังดีวีดีผ่านทางเมล กับพนักงาน 30 คน และหนัง/ซีรีส์เพียง 925 เรื่องให้บริการ ก่อนจะกลายเป็นบริการสตรีมมิงบันเทิงระดับโลก ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตในระบบสมาชิก ที่ตอนนี้มียอดผู้ใช้บริการกว่า 183 ล้านรายทั่วโลก กับมูลค่าบริษัท 33,975 ล้านดอลลาร์
PayPal
กระเป๋าเงินอีเล็กทรอนิกส์ร่นแรก PayPal ก่อตั้งโดย แมกซ์ เลฟชิน ปีเตอร์ ทีล และลุค โนเส็ค ในปี 1999 ซึ่งตอนแรก X.com บริษัทธนาคารออนไลน์ของ อีลอน มัสก์ กับบิล แฮร์ริส ทำท่าว่าจะสนใจนำไปพัฒนาต่อยอด แต่ตกลงด้านธุรกิจกันไม่ลงตัวก็เลยล่าถอยไป ปีเตอร์ ทีล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเลยมานั่งเป็นซีอีโอ โปรโมทบริการกระเป๋าเงินที่ปลอดภัยในชื่อ PayPal
ในปี 2002 PayPal เข้าสู่ร่มเงาของ eBay ในมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ มากกว่า 70% ของผู้เข้ามาประมูลซื้อขายใน eBay ล้วนใช้บริการการเงินผ่าน PayPal ที่นอกจากการันตีด้านความปลอดภัยแล้ว ยังมีบริการสะสมแต้มและส่วนลดจูงใจ จึงได้ความนิยมอย่างแพร่หลาย
PayPal ยังร่วมมือกันผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นธนาคารข้ามชาติต่างๆ มาสเตอร์คาร์ด รวมทั้งอินสตาแกรม กูเกิ้ล และทุกแพลตฟอร์มของอี-คอมเมิร์ซ
Spotify
Spotify บริการสตรีมมิ่งเพลงและมิวสิควิดีโอ ก่อตั้งเมื่อปี 2006 ในกรุงสต๊อกโฮล์ม สวีเดน โดย ดาเนียล เอ็ค และมาร์ติน ลอเรนต์สัน เริ่มให้บริการฟรีแบบจำกัดเวลา (6 เดือน) ในสหราชอาณาจักรในปี 2009 โดยมีลูกเล่นแบบ “ต้องได้รับเชิญ” เท่านั้น
หลังทดสอบจนมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ดาเนียลเห็นว่า ถ้าอยู่แค่ในสวีเดน อังกฤษ หรือยุโรปคงจะไม่มีโอกาสเติบโต เขาเลยย้ายฐานไปอเมริกา เปลี่ยนบริการเป็นให้บริการสตรีมมิ่งฟรีแบบไม่จำกัด สำหรับคนที่เป็นสมาชิกจะฟังอะไรก็ได้ที่มีฐานข้อมูล ขณะที่คนที่ไม่สมัครสมาชิกก็ฟังฟรีได้ แต่จะสลับด้วยโฆษณาแทรกเป็นระยะๆ
จุดเด่นของ Spotify คือการจัดเพลย์ลิสต์ที่ต้องรสนิยมโดนใจผู้ใช้บริการ ขณะนี้บริษัทมีมูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ดาเนียล เอ็ค ในฐานะซีอีโอ ร่ำรวยกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์