เทนซิน มาริโค เปิดตัวในฐานะ ‘สตรี’ ครั้งแรกในวัย 17 ด้วยการเป็นแดนเซอร์สาวสวยสุดพลิ้ว บนเวทีผู้เข้าประกวดนางงามทิเบต ณ เมืองธรรมศาลา ท่ามกลางผู้เข้าชมงานถึง 3,000 คน หากไม่สังเกตดีๆ ไม่เคยรู้จัก หรือไม่ได้พูดคุยกับเธอ ก็จะไม่รู้ว่า เธอเคยเป็นเด็กผู้ชายมาก่อน
เทนซิน เกิดในอินเดีย ทว่า มีเชื้อสายของทิเบต 100% เธออาศัยอยู่ในวัดบนเขาในเมืองดาร์จีลิ่ง รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย และบวชเป็นพระตั้งแต่เล็กๆ
“ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กผู้หญิงมาตั้งนานแล้ว” เทนซินเล่า “เพื่อนที่บวชเรียนด้วยกันก็ล้อฉันตลอดแหละ เรียกฉันว่า ตุ๊ดบ้าง กะเทยบ้าง บางคนก็ล้ำขนาดเรียกฉันว่า นางชี!”
ในประวัติศาสตร์ของทิเบต ไม่เคยมีสตรีข้ามเพศมาก่อน เทนซิน นับว่ากล้าหาญในการออกมาแสดงความเป็นตัวเองโดยไม่อายใคร ทุกวันนี้เธอกลายเป็นสาวเต็มตัว เลี้ยงชีพด้วยการเป็นนางแบบ นักเต้น และช่างแต่งหน้า รวมทั้งพ่วงความเป็นเน็ตไอดอลเพิ่มขึ้นมา ด้วยผู้ติดตามกว่า 3 หมื่นรายบนอินสตาแกรม แน่นอนว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ถ้าอยากมีชีวิตของตัวเอง เราก็ต้องเห็นแก่ตัวบ้าง เราต้องไม่อายในความเป็นตัวตนของเรา ต้องเชิดหน้ายอมรับสิ่งที่เราเป็น ถ้าคุณทำแบบนั้นได้ ก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาดูถูก” เทนซิน กล่าว
ครอบครัวของเทนซินอพยพออกจากบ้านเกิดไปยังธรรมศาลาของอินเดีย เช่นเดียวกับชาวทิเบตจำนวนมาก หลังจากที่จีนเข้ายึดครองแผ่นดินแม่ในทศวรรษที่ 1950 โดยมีผู้นำทางจิตวิญญาณ อย่าง ท่านดาไลลามะ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ครอบครัวมาริโคมีบุตรชาย 5 คน ซึ่งตามจารีตของทิเบต เด็กชายทุกคนต้องบวชเป็นพระ
แม้ว่าธรรมชาติของชาวทิเบต จะอาศัยการทำเกษตรกรรมหาเลี้ยงชีพ แต่การเป็นผู้อพยพในบ้านเมืองอื่นไม่เอื้อให้พวกเขาทำเพียงแค่นั้น คนรุ่นต่อมาก็มีความคิดอีกอย่างที่ต่างจากรุ่นก่อน พวกเขาเดินทางเข้าเมืองใหญ่ อย่างนิวเดลี เพื่อถามหาความหมายของชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการ — สำหรับ เทนซิน มาริโค เขาต้องการจะเป็นผู้หญิง
“มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ” ล็อบซาง วังยัล ผู้อำนวยการกองประกวดมิสทิเบต เล่านาทีเปิดตัวเทนซินในเพศสภาพใหม่ “นับเป็นการเปิดตัวที่อลังการมากเลยนะผมว่า ซึ่งผู้ชมก็ตอบรับเป็นอย่างดี ด้านล่างเต็มไปด้วยเสียงเชียร์ให้เธอเต้นไปเรื่อยๆ หมุนอีกๆ
“ก่อนหน้านี้ คนที่เห็นเทนซินตามท้องถนนก็มักจะคิดว่า ผู้ชายคนนี้เหมือนผู้หญิงจัง จนเธอไปเปิดตัวบนเวทีนั่นแหละ คนจึงได้ถึงบางอ้อ” ล็อบซาง ย้อนเล่า
เทนซิน ในวัย 23 ปัจจุบันอาศัยอยู่ในธรรมศาลา เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ได้การยอมรับว่าเป็นฮีโร่และเป็นไอคอนของชาวแอลจีบีทีทั้งหลาย
แม้ว่า เธอจะไม่เคยปริปากบ่นถึงความยากลำบากในการฝ่าฟันให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เธอต้องการในวันนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่จินตนาการได้ไม่ยาก ในสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมของชาวทิเบต
เทนซิน ค้นพบว่า เธออยากแต่งตัวเป็นผู้หญิง ตั้งแต่ยังบวชเป็นพระ เธอพยายามหาโอกาสที่จะได้แต่งหน้า สวมกระโปรงให้ได้ เธอสบโอกาสงานแต่งงานของเพื่อน ซึ่งตรงกับวันชาติอินเดียพอดี เธอรีบไปตลาดมัลวิยา นาการ์ ในเดลี เพื่อที่จะซื้อชุดสวย พร้อมทั้งวิกผม และรองเท้าส้นสูง
“ตอนนั้นฉันยังเป็นพระและไม่มีผมเลยต้องพึ่งวิก ฉันใส่ขนตาปลอมด้วย แต่ด้วยความที่ฉันสูงมาก เลยเลือกใส่รองเท้าแตะ ฉันคิดว่า ในลุคนั้นไม่มีใครจำฉันได้แน่ๆ”
ทว่า การแดนซ์กระจายในปาร์ตี้ ทำให้คลิปที่มีคนถ่ายไว้กลายเป็นไวรัลบนวีแชตในเช้าวันต่อมา ที่แย่คือ คนจำเธอได้จากวิดีโอ และคนที่จำเธอได้ดีที่สุดก็คือ พ่อแม่ ญาติๆ และพระอาจารย์
“พระอาจารย์โทรมาถามว่า นั่นคือฉันใช่มั้ยในวิดีโอ ท่านบอกว่า มันทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมนะ คนเป็นพระไม่ควรปฏิบัติตัวแบบนี้”
พอความแตกการบุลลี่ก็ตามมา ชาวทิเบตที่ขณะนั้นไม่เข้าใจคำว่า ‘เพศที่สาม’ หรือ ‘สตรีข้ามเพศ’ มาก่อน รับไม่ได้ที่เด็กผู้ชายที่เป็นพระ จะมา ‘แต่งหญิง’
หลังจากจิตตกอยู่พักใหญ่ เทนซิน มาริโค ก็ตัดสินใจว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอเปิดตัวเป็นผู้หญิงให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย โดยอาศัยเวทีประกวดมิสทิเบตเป็นสื่อกลาง ความกล้าหาญของเธอทำให้โด่งดังชั่วข้ามคืน
เทนซิน มาริโค ได้การยอมรับในชุมชนชาวทิเบตพลัดถิ่น ทั้งสมาคมสตรีทิเบต สภาเยาวชนทิเบต รวมไปถึง กรรมาปะ สังฆนายกแห่งพระพุทธศาสนามหายานนิกายคัจยู หนึ่งในพุทธศาสนา 4 นิกายของทิเบต ที่ต่างเชิญเธอไปพูดสร้างแรงบันดาลใจแก่สมาชิกกลุ่ม
คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ แม้คนจะเริ่มยอมรับได้ แต่ก็ยังมีอีกมาก ที่คอยมีวาจาเสียดแทงเมื่อสบโอกาส “ที่แย่ก็คือ คนมาบุลลี่แม่ของฉันด้วย ซึ่งท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ฉันก็ได้แต่บอกแม่ให้อดทน
“พวกเขาไม่ผิดหรอกที่ล้อเรื่องฉันเป็นผู้ชาย ก็ฉันเคยเป็นผู้ชายมาจริงๆ แต่ตอนนี้ฉันเป็นผู้หญิงแล้วนะ คุณไม่เห็นเหรอ”