Celeb Online

นับถอยหลังราชาภิเษก ‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ จัดแนวเรียบง่ายแต่ไม่ละเลยราชประเพณี


เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1953 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายในวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ในกรุงลอนดอน นับเป็นวาระสำคัญของโลกที่มีผู้คนเฝ้าติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ เจ้าชายชาร์ลส์ทรงมีพระชนมายุ 3 ชันษา มาปีนี้ถึงคิวของพระองค์ ซึ่งสำนักพระราชวังบักกิงแฮม ได้กำหนดวันราชาภิเษกไว้เป็นวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 สานต่อธรรมเนียมปฏิบัติที่จะไม่มีเวลาใดเลย ที่สหราชอาณาจักรจะปราศจากพระมหากษัตริย์

พระราชพิธีครั้งนี้ กษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงมงกุฎ รับการเจิม การอวยพร ซึ่งถวายโดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ผู้นำแห่ง นิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ ภายในเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ ตามธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 1066 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1953 นับเป็นเหตุการณ์น่าตื่นตาตื่นใจ เนื่องจากเป็นราชพิธีแรกที่มีการถ่ายทอดทางทีวี มีการคาดเดากันมากว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะงดงามตื่นตาตื่นใจเช่นเดียวกันหรือไม่ เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราชวงศ์เองยังแคลงใจ


สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรง “มงกุฎพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด” เช่นเดียวกันกับกษัตริย์องค์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นมงกุฎที่ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัยในหอคอยแห่งลอนดอน เหมือนเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ ของอังกฤษ และจะถูกนำมาใช้ในพระราชพิธี ตามรายงานของสำนักพระราชวัง มงกุฎพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะได้รับการดัดแปลงใหม่สำหรับพระราชพิธี โดยเส้นรอบวงของมงกุฎจะขยายเพิ่มขึ้นสำหรับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

มงกุฎพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดนับเป็นมงกุฎเก่าแก่ที่สุด ในบรรดามงกุฎกษัตริย์ของอังกฤษ และจะถูกสวมใส่โดยกษัตริย์ที่ครองราชย์ในพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น เป็นมงกุฎซึ่งทำขึ้นในปี 1661 ด้วยวัสดุทองคำแท้ ประดับเพชรพลอยและไข่มุก 444 เม็ด มีน้ำหนักกว่าสองกิโลกรัม และสูงกว่า 30 เซนติเมตร


ในวันพระราชพิธี พระราชินีคามิลลาก็จะทรงมงกุฎเช่นกัน คำถามคือพระองค์จะทรงมงกุฎใด?

จากการคาดเดาของสื่อ พระองค์น่าจะทรงมงกุฎของพระราชินีแมรี ซึ่งประดับเพชร “โคอีนัวร์” ที่อื้อฉาว และนับเป็นหนึ่งในเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ถูกครอบครองเปลี่ยนมือมาหลายต่อหลายครั้ง มีการเรียกร้องขอคืนทั้งจากอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน รวมทั้งอิหร่าน ต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ถึงการครอบครองในอดีต อย่างไรก็ตาม มงกุฎนี้ “ควีนมัม” เคยทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระสวามีของพระองค์

วันราชาภิเษก นอกจากจะเป็นพระราชพิธีตามธรรมเนียมของราชวงศ์แล้ว ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาความสุขของชาวอังกฤษด้วย นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ประกาศผ่านสื่อแล้วว่า สหราชอาณาจักรจะมีวันหยุดเพิ่มในช่วงวันราชาภิเษก คือวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม รวมถึงวันที่ 19 กันยายน ซึ่งตรงกับวันงานพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษด้วย


ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ Daily Mail เคยรายงานไว้ว่า จะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 2,000 คน ซึ่งน้อยกว่าคราวพระราชพิธีของพระมารดาของพระองค์ ซึ่งครั้งนั้นมีอาคันตุกะเข้าร่วมถึง 8,000 คน น้อยกว่าถึง 6,000 คน

ส่วนหนังสือพิมพ์ Telegraph ตั้งข้อสงสัยว่า ราชพิธีเดิมสามชั่วโมงจะถูกลดทอนเหลือเพียงชั่วโมงเดียวหรือไม่ ทางราชสำนักยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ อย่างไรก็ตาม ข่าวประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการได้แจ้งเป็นนัยว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงนำความเป็นพระองค์มาสู่พิธีบรมราชาภิเษก นั่นหมายความว่า แม้จะเป็นประเพณีดั้งเดิม แต่ก็จะมี “จิตวิญญาณแห่งความทันสมัย” ปะปนอยู่ด้วย

หลายฝ่ายคาดว่า การลดจำนวนแขกและการจำกัดเวลาในการทำพิธี อาจเนื่องมาจากความนิยมที่มีต่อราชวงศ์อังกฤษในหมู่ประชาชนเริ่มลดน้อยลงไป โดยเฉพาะ ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกเฉยๆ กับสถาบันมานานหลายปีแล้ว และจากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีชาวอังกฤษอายุ 18-24 ปีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีความคิดเห็นเชิงบวกเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3


แผนการจัดงานพระราชพิธีราชาภิเษก ซึ่งจะมีดารานักร้องชื่อดังของวงการเพลงอังกฤษ เข้าร่วมแสดงคอนเสิร์ตในวันที่ 7 พฤษภาคมก็ดูจะล้มเหลวเสียแล้ว ศิลปินหลายคนพากันปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ทั้ง อะเดล, เอ็ด ชีแรน, สไปซ์เกิร์ลส์, แฮร์รี สไตล์ส หรือแม้แต่ เซอร์เอลตัน จอห์น ที่นับเป็นคนสนิทของราชวงศ์ ก็ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีได้ ตามรายงานข่าวของ The Sun เซอร์เอลตัน จอห์นให้เหตุผลว่า “ไม่ว่าง” เนื่องจากติดงานทัวร์คอนเสิร์ต เช่นเดียวกับศิลปินอื่นๆ อีกหลายคน