Celeb Online

‘เวทีนางงาม’ คือสนามกีฬาแห่งชาติฟิลิปปินส์


คนประเทศอื่นอาจคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอล แต่ชาวฟิลิปปินส์กลับหลงใหลใน 3B นั่นคือ Boxing, Basketball และ Beaty Contest การประกวดนางงาม ที่มีชื่อเรียกอย่างย่อว่า ‘Beau-con’ ซึ่งจัดกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ตั้งแต่เวทีระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานต่างๆ ไปจนถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศ


เวทีประกวด Miss Earth, Miss Elite Phipippines, Miss International, Miss World รวมถึง Miss Universe ล้วนเป็นโปรแกรมโปรดของแฟนคลับนางงาม พอๆ กับการแข่งขันโอลิมปิก ยูฟาคัพ และแชมเปียนส์ลีกสำหรับแฟนบอล การได้ครองมงกุฎ หรือการเข้ารอบสำคัญของนางงามฟิลิปปินส์บนเวทีระดับนานาชาติ นับเป็นความภูมิใจของคนในชาติ ความคลั่งไคล้ในการประกวดนางงามของฟิลิปปินส์ เริ่มต้นในปี 1969 “กลอเรีย ดิอาซ” คือนางงามฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้สวมมงกุฎ Miss Universe ตามมาด้วย “มาร์การิตา โมแรน” ในปี 1973 จากนั้นเว้นว่างไปนานจนกระทั่ง “เปีย อะลอนโซ เวิร์ตซ์บัค” สาวลูกครึ่งเยอรมัน-ฟิลิปปินส์ คว้ามงกุฎได้อีกครั้งในปี 2015 และ “แคทริโอนา เกรย์” ในปี 2018 จากเวทีที่จัดประกวดในประเทศไทย


ผู้ชนะจากเวทีประกวดความงาม ส่วนใหญ่มักมีโอกาสได้งานโฆษณา ภาพยนตร์ หรืองานถ่ายแบบ สำหรับชาวฟิลิปปินส์ซึ่งประชากร 1 ใน 5 ยังมีรายได้ต่ำกว่า 100 บาทต่อวันแล้ว ตำแหน่ง Miss ต่างๆ นั้น หมายถึงใบเบิกทางสู่ความก้าวหน้าในชีวิต อย่างไรก็ดี เคล็ดลับความสำเร็จเบื้องหลังนางงามหลายเวทีก็คือ ชาวฟิลิปปินส์รู้แนวทางการใช้ความงามแบบมืออาชีพ ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ในฟิลิปปินส์ มักทุ่มเงินให้กับการสนับสนุนสาวงามที่ส่อประกายความหวัง


สาวงามเหล่านั้นจะได้รับการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญ อย่างเช่น สถาบัน Kagandahang Flores ในกรุงมะนิลา ที่ “ร็อดจิล ฟลอเรส” ผู้เป็นเจ้าของได้ปั้นหญิงสาวให้กลายเป็นราชินีมาตั้งแต่ปี 1996 ด้วยสโลแกน “เพื่อมงกุฎ เพื่อชาติ” หญิงสาวจะฝึกซ้อมกันภายในห้องกระจก 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเรียนรู้การเดินบนแคตวอล์กอย่างสง่างาม บนส้นสูง 6 นิ้ว นอกจากนั้น พวกเธอยังต้องฝึกความแข็งแรง การแต่งหน้าทำผม รวมถึงฝึกตอบคำถามอย่างมีเสน่ห์และฉลาด เพื่อชนะใจกรรมการด้วย “สถาบันฝึกอบรมถือเป็นอาวุธลับของฟิลิปปินส์ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เรากลายเป็นมหาอำนาจแห่งโลกความงาม” เจ้าของสถาบันบอกแบบไม่กั๊ก ชื่อเสียงของนักปั้นนางงามคนนี้ดีมาก ถึงขนาดมีสาวงามจากต่างชาติ ไม่ว่า ลาว อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ยอมจ่ายเงินเพื่อเข้าหลักสูตรฝึกอบรมกับเขา


Makoy Manlapaz ก็เป็นอีกหนึ่งสถาบันความงามแถวหน้าของฟิลิปปินส์ ที่เปิดสอนเรื่องการปรุงแต่งความงาม การเดิน การเต้น บุคลิกและการพูด โดยโค้ช “มาคอย มันลาปาซ” ผู้ซึ่งเฝ้าติดตามเวทีประกวดนางงามมาตั้งแต่วัยเด็ก และยอมทิ้งงานคอลล์ เซ็นเตอร์ มาเป็นโค้ชสอนนางงาม

ประเพณีการประกวดนางงามในฟิลิปปินส์มีมาตั้งแต่ปี 1908 เริ่มจากงานเทศกาลท้องถิ่นในกรุงมะนิลา ครั้งนั้นมีการสวมมงกุฎให้กับ ‘Carnival Queen’ เป็นครั้งแรก หลังจากนั้น ก็มีการจัดประกวดนางงามเป็นไฮไลต์ของเทศกาลประจำปี ยุคแรกๆ นางงามมักถูกเฟ้นจากลูกสาวของตระกูลมีชื่อเสียง และฐานะ ต่อมาเวทีเริ่มเปิดรับสาวงามทั่วไปเพิ่มขึ้น


“คุณไม่ได้เป็นนางงามในชั่วข้ามคืน คุณต้องทำงานหนักเพื่อมัน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ คุณต้องฝึกฝนทักษะทางสังคม รวมถึงดูแลรูปลักษณ์ของคุณด้วย” เอ็มเจ ฟิลิเป-นักแสดงและผู้สื่อข่าวชื่อดังสังกัด ABS-CBN ของฟิลิปปินส์กล่าว เขาติดตามการประกวดนางงามบ่อยครั้ง รวมถึงเวที Miss Universe ครั้งล่าสุดที่ฟลอริดา เพื่อรายงานข่าว “นางงามฟิลิปปินส์เลียนแบบสาวละตินอยู่นานหลายปี เพราะนางงามโคลอมเบียประสบความสำเร็จมากบนเวทีประกวด จึงเป็นธรรมเนียมที่นางงามฟิลิปปินส์จะต้องแต่งกายให้เข้ากับลุค ไปจนถึงทรงผมและการแต่งหน้า แม้กระทั่ง ชุดราตรีก็สั่งกันมาจากโบโกตา”

เอ็มเจ ฟิลิเปมีความเห็นที่น่าจะพ้องกับชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 125 ล้านคนว่า การที่ชาวฟิลิปปินส์คลั่งไคล้ในการประกวดนางงามนั้น เพราะมันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความงามของชาวฟิลิปปินส์เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับคนทั้งโลกได้