“โคอินัวร์” มีรากศัพท์จากภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ‘ภูเขาแห่งแสง’ มันคือเพชรล้ำค่าขนาด 186.6 กะรัต น้ำหนัก 37.21 กรัม ภายหลังเจียระไนแล้วมีขนาด 105.6 กะรัต และน้ำหนัก 21.6 กรัม เคยได้ชื่อว่าเป็นเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตามหลักฐานที่ค้นพบโดยผู้สื่อข่าวทีวี SWR2 ชาวเยอรมัน ระบุว่า เพชรโคอินัวร์ปรากฏครั้งแรกเมื่อปี 1751 ในหลักฐานประวัติศาสตร์ของนักเขียนชาวอิหร่าน ซึ่งเขียนรายงานเกี่ยวกับการโจมตีของชาวเปอร์เซียในเมืองเดลีปี 1739
การยึดครองเดลีของกองทัพเปอร์เซียใช้เวลาไม่นาน เพียง 57 วัน แต่คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก หลังจากนั้น กองทัพเปอร์เซียก็นำกองคาราวานประกอบด้วยช้าง 700 เชือก อูฐ 4,000 ตัว และม้า 12,000 ตัว ออกจากเดลีกลับถิ่นฐานของตน ที่ปัจจุบันคือที่ตั้งของประเทศอิหร่าน ครั้งนั้น ชาห์นาเดอร์มหาราช-พระมหากษัตริย์แห่งอิหร่าน ผู้ก่อตั้งราชวงศ์อาฟชาริยะห์ ยังนำบัลลังก์นกยูงกลับไปด้วย และประดับเพชรเม็ดใหญ่ที่ตั้งชื่อว่า ‘โคอินัวร์’ ไว้ตรงส่วนบนของบัลลังก์
แต่สิ่งที่ชาห์นาเดอร์มหาราชมิอาจรู้ได้คือ เพชรโคอินัวร์ที่ปล้นจากอินเดียไปนั้น มีตำนานเล่าขานมาหลายชั่วอายุคนว่า เป็นเพชรต้องคำสาป ที่ย้อนอดีตตามหลักฐานภาษาฮินดูไปถึงปี 1306 “ผู้ที่ได้ครอบครองเพชรเม็ดนี้จะเป็นเจ้าผู้ครองโลก แต่เขาคนนั้นจะพบกับความโชคร้ายทั้งปวงเช่นกัน มีเพียงพระเจ้าหรือผู้หญิงเท่านั้น ที่สามารถครอบครองเพชรเม็ดนี้ได้โดยไม่ต้องรับโทษ”
เพชรโคอินัวร์เคยอยู่ในความครอบครองของหลายราชวงศ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ราชปุตแห่งอินเดีย ราชวงศ์โมกุล ราชวงศ์อาฟชาริยะห์ ราชวงศ์ดูร์รานี ราชวงศ์ซิกข์ …ผู้ที่เคยครอบครองเพชรโคอินัวร์เคยประสบเภทภัยต่างๆ นานา ทั้งถูกทรมาน ลอบฆ่า ตาบอด ถูกแย่งชิงอำนาจ ไปจนถึงต้องตายจากโรคภัยไข้เจ็บ มหาราชา รณชีต สิงห์-ผู้นำจักรวรรดิซิกข์ และผู้ครองอาณาจักรปัญจาบ ซึ่งลุ่มหลงในเพชรโคอินัวร์เหมือนกัน แต่ต้องมาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในปี 1839 ครั้งนั้น บริษัทข้ามชาติบริติช-อีสต์อินเดีย สบโอกาสช่วงชิงเพชรโคอินัวร์ เพื่อส่งมอบให้แก่พระราชินีวิกตอเรียในปี 1849 และทุกวันนี้ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับมงกุฎกษัตริย์ของราชวงศ์อังกฤษ
เพชรโคอินัวร์ เคยกลายเป็นดาวเด่นของงานเอ็กซ์โปในเมืองหลวงของอังกฤษเมื่อปี 1851 หนังสือพิมพ์ในลอนดอนรายงานว่า มีผู้คนเข้าแถวยาวเป็นกิโลเมตร บริเวณด้านหน้าคริสตัลพาเลซ เพื่อเข้าชมเพชรเม็ดนี้ แต่สภาพจริงของโคอินัวร์ตอนนั้นยังเป็นเพชรดิบ ไม่ได้ส่องประกายวิบวาว ประเทศทางเอเชียใต้นับที่ขนาดความใหญ่ของมัน ไม่ใช่ที่ความเจิดจรัส ต่อมาเจ้าชายอัลเบิร์ต -พระสวามีเชื้อสายเยอรมันของพระราชินีวิกตอเรีย จึงสั่งให้นำเพชรโคอินัวร์ไปทำการเจียระไนเสียใหม่ เพื่อให้งดงามสมเป็นผลงานโชว์ แต่น่าเสียดายที่ช่างเจียระไนคำนวณผิดพลาด ทำให้ต้องสูญเสียเนื้อเพชรไปถึงสองในสาม ทุกวันนี้หากวัดจากขนาด เพชรโคอินัวร์ไม่ใช่เพชรขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอีกต่อไป แต่อยู่ในอันดับที่ 151 ของโลก
พระราชินีวิกตอเรียดำริให้นำเพชรโคอินัวร์ไปประดับบนมงกุฎ และสืบทอดถึงผู้สืบสันตติวงศ์มานับตั้งแต่นั้น ครั้งสุดท้ายที่มงกุฎปรากฏต่อสาธารณะคือปี 2002 ซึ่งถูกวางบนพระบรมศพของ ‘ควีนมัม’ พระมารดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนถูกนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่ Tower of London และออกสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง บนพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ประตูโถงพระราชวังเวสต์มินสเตอร์
ในช่วงทศวรรษ 1960s เจฟฟรีย์ อิคบัล-ศิลปินชาวเมืองละฮอร์ของปากีสถาน เคยเขียนจดหมาย 786 ฉบับ ส่งถึงเจ้าหน้าที่รัฐปากีสถานและสำนักราชวังของอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้อังกฤษส่งเพชรโคอินัวร์คืนให้กับปากีสถาน อ้างว่าในอดีตอาณาจักรปัญจาบเคยอยู่ในความครอบครองของปากีสถาน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงให้คำตอบปฏิเสธไปแล้วสองครั้ง แต่ในคำตอบนั้น ไม่มีการกล่าวถึงเพชรโคอินัวร์ และข้อเรียกร้องของอิคบัลก็ไม่เคยถึงศาล
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผู้คน-โดยเฉพาะ ชาวอินเดีย-พากันออกมาทวงสิทธิ์ในสมบัติล้ำค่าที่เคยเป็นของชาติอินเดีย และมองว่าเพชรโคอินัวร์คือสัญลักษณ์ของการปล้นสะดม และจักรวรรดินิยมของจักรภพอังกฤษ ที่ควรมีการส่งคืน เป็นการชดใช้สำหรับประวัติศาสตร์การนองเลือดในอินเดีย แต่ครั้งสุดท้าย เดวิด คาเมรอน-อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยปฏิเสธการคืนเพชรโคอินัวร์ให้แก่อินเดียถึงสองครั้ง โดยให้เหตุผลว่า ถ้าใครต่อใครเจอเพชรเหล่านี้ทั้งหมดแล้วร้องขอคืน ท้ายที่สุด พิพิธภัณฑ์อังกฤษก็จะไม่เหลืออะไรเลย
นอกจากเพชรโคอินัวร์แล้ว ยังมีการค้นพบเพชรคู่แฝดคือ ‘ดารยาอินัวร์’ (แปลว่า ทะเลแห่งแสง) เพชรสีชมพูขนาด 186 กะรัต ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพชรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเหมือนกัน ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในธนาคารกลางที่เตหะรานของอิหร่าน
รวมถึงเพชร ‘ออร์ลอฟ’ ที่ตั้งชื่อตามขุนนางออร์ลอฟของรัสเซีย ชายคนรักของจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย เพชรออร์ลอฟถูกค้นพบในเอเชียใต้เช่นกัน และปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ภายในพระราชวังเครมลิน ในกรุงมอสโก …เพชรทั้งสองนี้ มีประวัติความเป็นมาจากแหล่งและช่วงเวลาเดียวกันกับเพชรโคอินัวร์ แต่ยังไม่มีใครชาติไหนทวงคืน