Interview

เปิดบ้าน “ใบหยก” ย้อนวันวานไปกับ “เบียร์-บุ้ง-บุ๋ม-บุ๊ค” นิวเจนฯ ของตระกูล

Pinterest LinkedIn Tumblr


แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เจนฯ 3 แห่งครอบครัวใบหยก นำทีมโดยพี่ชายคนโต เบียร์ ปิยะเลิศ, บุ้ง สะธี, บุ๋ม จารุจิต และน้องนุชสุดท้อง บุ๊ค พิมพ์เลิศ ใบหยก แท็กทีมกันออกสื่อพร้อมหน้า แต่การนัดสัมภาษณ์สุดเอกซ์คลูซีฟครั้งนี้ ก็เป็นอีกครั้งที่ทำให้ทั้งสี่พี่น้องได้นั่งไทม์แมชชีน เพื่อย้อนวันวาน กลับไปตามหาความทรงจำวัยหวาน ที่บางเรื่องก็เกือบจะเลือนหายไปกับกาลเวลาแล้ว แต่พอหยิบขึ้นมาเล่าก็ชวนให้สนุกสนานและประทับใจ โดยเฉพาะ บทเรียนธุรกิจที่แต่ละคนได้รับจากคุณพ่อ หรือท่านประธานแห่งใบหยก กรุ๊ป นั่นเอง

ทุกวันนี้แม้ว่าแต่ละคนจะมีกิจการของตัวเอง และมีภาระหน้าที่อื่นๆ ให้ต้องดูแล อย่าง เบียร์พี่คนโตที่ไปได้ดีกับธุรกิจของกิน มีร้านอาหารและแบรนด์ในมือให้ดูแลหลายสิบสาขา แถมยังเป็นยูทูบเบอร์หน้าใหม่ที่กำลังมาแรง ส่วนสาวบุ้งที่เป็นทั้งคุณแม่ยังสาวพร้อมกับทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ หรือสาวบุ๋มกับบุ๊คที่ก้าวออกไปสร้างแบรนด์จิวเวลรี่ของตัวเอง แต่ทั้ง 4 คนก็ยังพร้อมใจกันช่วยดูแลสานต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวที่สร้างชื่อมาอย่างยาวนาน อย่าง กิจการในเครือของใบหยกที่มีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า รวมถึงที่ดินในมือที่รอการพัฒนาต่อไปในอนาคต

ปิยะเลิศ ใบหยก
จุดเริ่มต้นของทายาทใบหยก

“ธุรกิจของที่บ้าน เกิดมาจากคุณปู่ท่านประมูลที่ดินแถวประตูน้ำมาได้ 40 ไร่ ส่งต่อมาถึงยุคคุณพ่อ ท่านก็เริ่มสร้างโรงหนัง ทำอพาร์ตเมนต์ ทำโรงแรม จากนั้นก็มาสร้างตึกใบหยก 1 ซึ่งเป็นตึกสูงที่สุดในเมืองไทยในเวลานั้น หลังจากนั้นไม่กี่ปี ก็สร้างตึกใบหยก 2 เท่ากับว่า คุณพ่อได้สร้างตึกสูงที่สุดในเมืองไทยถึง 2 แห่ง แล้วก็สร้างโรงแรมอีกหลายสิบแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มาถึงรุ่นพวกผม แต่ละคนก็เข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจควบคู่ไปกับการทำธุรกิจส่วนตัว” เบียร์ ในฐานะพี่ใหญ่เปิดฉากด้วยการเล่าแบ็กกราวด์ของใบหยก กรุ๊ป ก่อนที่น้องสาวทั้งสามจะช่วยกันเสริมถึงความทรงจำกับตึกใบหยก ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของบ้านเรา

“ตอนที่คุณพ่อสร้างตึกใบหยก 1 บุ๊คเกิดไม่ทัน เพราะคุณแม่เคยเอารูปครอบครัวตอนที่ตึกใบหยก 1 เพิ่งสร้างเสร็จมาให้ดู ปรากฏว่าไม่มีบุ๊คอยู่ในรูป มาถึงใบหยก 2 จำได้ว่า ทุกวันอาทิตย์คุณพ่อจะขับรถไปจอดข้างทาง (เบียร์ เสริม สะพานข้ามแยกพญาไท) แล้วพาเดินขึ้นสะพานลอย ไปถ่ายรูปตึกใบหยก 2 ที่กำลังสร้าง เพื่อดูว่าตอนนี้ตึกสร้างมาถึงไหน สูงเท่าไหร่ ซึ่งบุ๊คเองด้วยความเป็นเด็ก ยังไม่รู้เรื่อง คิดแค่ว่าอากาศร้อนแบบนี้ทำไมต้องมา” น้องสาวคนเล็กฉายภาพในความทรงจำอย่างออกรส

จารุจิต ใบหยก
ด้านบุ้งเสริมว่า “จำได้ว่าตอนนั้นคุณพ่อบอกว่า หลังจากสร้างตึกเสร็จ เพื่อนจะมาถามว่า ขอคูปองไปกินข้าวบนตึกใบหยกหน่อยซิ ซึ่งเราก็ไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ)”

“ใช่ๆ ตอนนั้นบุ๊คไม่รู้ว่าด้วยว่าตึกใบหยกเป็นตึกสูงที่สุด จนเข้าโรงเรียน แล้วเพื่อนถามว่า บ้านอยู่บนตึกที่สูงที่สุดหรือเปล่า อยู่ชั้นอะไร เลยรู้ตอนนั้นว่าบ้านเราสร้างตึกที่สูงมาก เลยตอบเพื่อนไปว่า เราอยู่บ้านไม่ได้อยู่ตึก (หัวเราะ)”

ขณะที่ บุ๋มซึ่งก่อนหน้านี้ออกตัวว่า จำอะไรไม่ได้เลย ก็เริ่มจะนึกออก และเสริมว่า “ตอนที่คุณพ่อจะทำตึกใบหยก 2 โดยใช้ที่ดินที่บ้านเราอยู่ เราสี่คนถือป้ายประท้วงคุณพ่อที่บ้าน แต่ก็ประท้วงกันแบบขำๆ ว่าเราไม่อยากย้าย แต่สุดท้ายก็ต้องย้ายมาอยู่ที่บ้านเราอยู่ในตอนนี้”

ขณะที่ น้องสาวทั้งสามพยายามทบทวนความทรงจำกันอย่างสนุกสนาม เบียร์เสริมว่า “ผมทันทุกตึก อย่าง ใบหยก 1 ผมไปวิ่งเล่นกับพี่ๆ พนักงานตั้งแต่เด็ก พอใบหยก 2 เป็นช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ได้มีโอกาสมาฝึกงานกับคุณพ่อ เลยทำให้ผมค่อนข้างซึมซับ พอมาเริ่มทำงานจริงๆ เลยไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่”

สะธี ใบหยก
บทเรียนจากท่านประธาน(คุณพ่อ)

พอเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ถึงเวลาที่นิวเจนฯ ของครอบครัวจะต้องเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจ โดยมีคุณครูคนสำคัญคือ คุณพ่อ ซึ่งเป็นท่านประธานเวลาอยู่ที่ทำงาน

เริ่มจาก เบียร์ พี่ชายคนโตที่เข้ามาทำงานกับคุณพ่อเป็นคนแรก “ด้วยความที่โตสุด เลยเข้ามาทำงานคนแรก สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากคุณพ่อคือ ท่านเป็นคนที่ละเอียดมาก ละเอียดกว่าที่จินตนาการไว้ ตอนที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ ด้วยความเป็นวัยรุ่น ก็อาจจะมีบางจุดที่เราคิดว่าตรงนี้ ไม่เป็นไรหรอก เราจะเดินไปข้างหน้า คุณพ่อก็จะแนะนำว่า ตรงนี้ไม่ใช่ เพราะอย่างที่บอกผมมาทำงานช่วงอายุ 20 ปลายๆ ค่อนข้างใจร้อน พอมาลงมือทำจริงก็มีทั้งสิ่งที่เราทำสำเร็จและไม่สำเร็จ โชคดีที่มีคุณพ่อ ซึ่งเป็นคนเดียวในโลกที่เบรกผมได้ ซึ่งคำว่าเบรกในที่นี่ ท่านไม่ได้ห้ามให้ไม่ทำ แต่จะเตือนสติ ว่าทำแบบนี้ดีที่สุดหรือยัง ถ้าไม่ดี จะเกิดอะไรขึ้นมากกว่า”

ตัดภาพมาที่บุ้ง ภาพจำของคุณพ่อในมาดท่านประธานคือ ค่อนข้างใจดี ปล่อยให้คิดให้ลองทำเอง ไม่สติ๊กมากเท่าที่พี่ชายเจอ โดยคุณพ่อมอบหมายให้เธอเข้ามาดูแลตลาดขายผ้า

“จริงๆ ตอนมาทำงานแรกๆ เราก็ใจร้อน เวลาเจอลูกค้าจะปะทะ ความถูกต้องต้องมาก่อน คุณพ่อก็เรียกเข้าไปคุยว่า ต้องใจเย็นมองหลายๆ มุม แต่พอหลังๆ คุณพ่อจะปล่อย ถ้ามีอะไรไม่ใช่ ก็โทร.มาสะกิด แต่พ่อไม่ดุ เพราะเราไม่ใช่ลูกที่ดื้อกับพ่อแม่ พูดอะไรก็เชื่อ ไม่รั้น มองไปในทางเดียวกับพ่อ วิธีการทำงานก็จะคล้ายๆ กับคุณพ่อ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณพ่อคือ ท่านทำงานละเอียดมาก เหมือนตอนสร้างตึกใบหยก กระเบื้องทุกชิ้นรวมไปถึงสุขภัณฑ์ คุณพ่อจะพาไปเลือกที่ร้าน ดูเองทุกชิ้น แล้วก็สอนว่า กระเบื้องต้องพลิกดูข้างหลังว่าถ้ามีแบบนี้คือไม่ดี เวลารับงาน ก็จะสอน ท่านจะเอาเหรียญมาเคาะเพื่อเช็กว่าปูกระเบื้องดีหรือไม่ดี”

พิมพ์เลิศ ใบหยก
ขณะที่ บุ๊ค เสริมว่า เรียนจบมา โรงแรมหัวช้าง เฮอริเทจ ก็สร้างเสร็จพอดี เลยได้รับมอบหมายให้มาดูแล

“ตอนแรกก็แอบเสียใจนิดๆ เพราะเพิ่งเรียนจบยังไม่ได้พัก ก็ต้องมาทำงานเลย ตอนที่มาทำใหม่ๆ คิดว่า จะเป็นผู้บริหารสวยๆ ไม่ต้องทำอะไร แต่พอมาทำจริง ปรากฏว่ามีรายละเอียดหลายอย่างให้ต้องดูแลใส่ใจ สิ่งที่คุณพ่อสอนคือ ถึงแม้ว่าเราจะมาบริหารภาพรวม แต่จริงๆ แล้วรายละเอียดคือสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับ บุ๊ค คุณพ่อค่อนข้างใจดี เวลาทำงานสำเร็จ ต่อให้จะเล็กหน่อย ก็จะชม ให้กำลังใจ”

ปิดท้ายที่ บุ๋ม “บุ๋มมาเริ่มทำงานตอนอายุ 20 กว่า ส่วนตัวเป็นคนเพอร์เฟกชันนิสต์อยู่แล้ว เวลาเจออะไรไม่เพอร์เฟกต์ก็จะล้มกระดานไม่ทำ ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ ก็มีไอเดียในหัวว่าอยากทำอะไร เป็นแนวพูดตรง อาจจะมีมุมมองความชอบที่ตรงข้ามกับคุณพ่อ คุณพ่อชอบอะไรที่เข้าถึงได้ หาเงินได้จริง แต่เราเป็นแนวแฟนตาซี อยู่ในอะไรที่สวยหรูนิดนึง พอมาทำงานกับคุณพ่อ ก็เลยเห็นต่างกันบ้าง แรกๆ ก็ทำงานกันยาก จนพอได้มาทำธุรกิจของตัวเอง เลยรู้ว่าเมื่อก่อนที่เราคาดฝันในโลกแฟนตาซีของเราว่าทุกอย่างต้องดี เพอร์เฟกต์ เวลาจะทำอะไรจะมองแบบเมกะโปรเจกต์ ใหญ่ๆ ก่อน เล็กๆ ไม่ทำ อาจจะไม่ใช่เรา กลายเป็นว่า เราเอาสิ่งที่คุณพ่อพยายามเบรกและสอนมาปรับใช้ทั้งหมด แทนที่จะมองทุกอย่างเป็นแฟนตาซี ก็กลับมามองบนพื้นฐานของความเป็นจริงมากขึ้น”

ปิยะเลิศ ใบหยก
ประสบการณ์ คือติวเตอร์นอกห้องเรียน

แม้จะมีคุณพ่อเป็นคุณครู แต่ขึ้นชื่อว่าโลกธุรกิจ ถ้าจะให้เก่งต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่มีทั้งก้าวที่สมหวังและพลาด แถมยังมีบททดสอบมากมายเข้ามาท้าทายตลอดเวลา

เริ่มจากเบียร์ “งานแรกของผมคือ รีโนเวตอพาร์ตเมนต์เก่าเป็นโรงแรม ตอนนั้นด้วยความที่เป็นนักเรียนนอก พูดถึงโรงแรมผมก็มองไปถึงเรื่องความหรูหรา อยากเนรมิตโรงแรมในฝัน ปรากฏคุณพ่อมีงบให้ 3 ล้านไปรีโนเวทโรงแรม 10 ชั้น 200 ห้อง ตอนนั้นคิดหนักครับ โทร.ไปขอเงินคุณพ่อเพิ่ม เพราะยุคนั้นเพื่อนๆ ที่กลับมาทำธุรกิจเหมือนกัน เขาได้เงินหลายสิบล้าน ปรากกฏคุณพ่อไม่ให้ บอกให้ทำไป ผมก็เลยเริ่มทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลา 1 ปี ทำเสร็จทั้งโรงแรม อาจจะไม่ได้หรูหรามาก แต่ก็สามารถรับลูกค้าได้ ซึ่งโรงแรมนั้นน่าจะเป็นโรงแรมแรกๆ ของเมืองไทยที่ใช้คำว่า บูทีค มองย้อนกลับไปผมว่างานนั้นสอนให้ผมรู้ว่า การลงทุนเยอะอาจไม่ได้ดีเสมอไป ทางที่ดีอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป นี่คือบทเรียนที่พ่อสอนแบบไม่พูด แต่ให้เรียนรู้จากการทำงาน ซึ่งผมเองก็เป็นประเภทไม่ยอมแพ้ ทำไม่ได้อายเขา ก็เลยทำจนสำเร็จ เป็นจุดพลิกให้ทำงานเป็น เพราะถ้าไม่ได้งานนั้น ผมอาจจะไม่สำเร็จถึงวันนี้”

ส่วนบุ้งบอกว่า “ตอนแรกคุณพ่อให้ไปดูแลร้านอาหาร บุ้งคิดว่าไม่ใช่ทางของเรา เลยคุยกับคุณพ่อตรงๆ ตอนหลังเลยขอคุณพ่อมาดูใบหยก 1 และ ตึก B gallery ซึ่งเป็นตึกเช่าเหมือนกัน บางคนเรียกว่าใบหยก 3 ตอนนั้นกำลังจะเปิด เราเห็นโอกาสยังไม่มีใครมาดูให้คุณพ่อ เลยขอมาดู เพราะอยากไปเริ่มต้น ตั้งแต่ตอนที่ตึกเพิ่งเปิดตัว จะได้เรียนรู้ลูกค้า ดูแลผู้เช่าตั้งแต่ต้น สำหรับ บุ้ง การตัดสินใจครั้งนั้นถือเป็นจุดพลิกของชีวิตการทำงานเหมือนกัน เพราะทำให้เราได้เรียนรู้หลายอย่าง ตั้งแต่การดูแลลูกน้อง การบริหาร”

จารุจิต ใบหยก
ด้าน บุ๊ค ดูเหมือนว่าจะเริ่มต้นแบบสมูทกว่าคนอื่น เพราะมาบริหารโรงแรมที่มีจุดเด่นคือ โลเกชั่นใจกลางเมือง ที่แค่ไม่กี่ก้าวก็ถึงแหล่งชอปปิ้งอย่างสยาม แต่บรรยากาศภายในกลับเงียบสงบ ราวกับรีสอร์ตด้วยจุดขายที่ชัด ทำให้มียอดจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนมาเจอโควิด-19

“ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าต่อให้เราอยู่เฉยๆ ปล่อยให้โรงแรมรันไปเอง ก็ไปได้ แต่พอเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด รายได้เป็นศูนย์บาท ในฐานะผู้บริหาร กลายเป็นว่าเราก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรต่อ จะเอารายได้ตรงไหนมาจ่ายพนักงาน ก็ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่”

เช่นเดียวกับ บุ๋ม “ช่วงโควิด-19 เป็นจังหวะที่รุกธุรกิจจิวเวลรีพอดี เพราะจากที่ขายออนไลน์ได้รับผลตอบรับดีมาก เริ่มตัดสินใจไปยืมเงินคุณพ่อเป็นครั้งแรก เพื่อมาเปิดป็อบอัพในห้างฯ 3 เดือน จากที่ผ่านมาใช้ทุนตัวเองในการทำธุรกิจมาตลอด ช่วงครึ่งเดือนแรกขายดีมาก จนคิดว่าพอครบกำหนด 3 เดือน มีเงินไปจ่ายคืนคุณพ่อได้สบาย แต่พอมาเจอโควิด-19 ยอดขายเป็นศูนย์ แถมพอมีล็อกดาวน์ ห้างฯ ก็ต้องปิด เราต้องไปขนของทั้งหมดออกมา ตอนนั้นท้อมาก กะเอาเงินตัวเองคืนพ่อแล้วเลิกทำ แต่สุดท้ายคิดไปคิดมา ไหนๆ ก็ทำมาขนาดนี้แล้ว เลยฮึดขึ้นมา เริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์ นั่งคิดทุกวันว่าจะทำอย่างไร ทำโปรโมชั่นอะไร เพราะที่ผ่านมาเราขายได้โดยไม่ต้องจัดโปรฯ สุดท้ายธุรกิจก็เริ่มกลับมา บทเรียนครั้งนั้นเลยเหมือนเป็นจุดพลิกที่ทำให้รู้เลยว่า อย่านิ่งนอนใจ อย่าคิดว่าอะไรที่ดีอยู่แล้ว จะดีตลอดไป แผนสำรองต้องมีตลอดเวลา”


ก้าวต่อไปของทายาทใบหยก

แม้ตอนนี้จะดูเหมือนแต่ละคนจะมีความรับผิดชอบชัดเจน แต่ทั้งสี่พี่น้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภารกิจหลักของทุกคนคือ การสานต่อธุรกิจของครอบครัว

“พ่อเป็นคนฟอร์มเยอะ เวลาจะมีธุรกิจใหม่เขาจะไม่ได้เรียกมาตรงๆ แต่จะถามว่างไหม หรือถามว่าอันนี้เห็นว่าไง อย่าง โรงแรมควีนแลนด์ โปรเจกต์ใหม่ที่เราจะเปิดตัวปีหน้า เขาให้เราสี่คนไปคุยกับดีไซเนอร์ว่าอยากได้แบบไหน แล้วค่อยให้ดีไซเนอร์สรุปไปคุยกับคุณพ่ออีกที เพราะรู้ว่าถ้าคุณพ่อมาด้วย ก็อาจจะเห็นไม่ตรงกับลูกๆ (หัวเราะ) ส่วนกิจกรรมยามว่าง ครอบครัวเราเจอกันเป็นประจำอยู่แล้ว นอกจากไลน์ครอบครัวที่เด้งทั้งวัน ทุกวันอาทิตย์ เราก็ต้องมากินข้าวด้วยกัน” บุ๋มเล่าให้เห็นภาพ

ถามว่าอนาคต ทั้งสี่พี่น้องจะแตกไลน์ธุรกิจอะไรใหม่ๆ ร่วมกันหรือไม่ “จริงๆ เราอาจจะถนัดกันคนละด้าน อย่างบุ้งไม่ทำร้านอาหาร แต่เบียร์ชอบ เพราะฉะนั้น ต้องแยกก่อน ธุรกิจกงสี อย่างธุรกิจโรงแรมอย่างไรก็ต้องทำ เป็นหน้าที่ ส่วนธุรกิจส่วนตัวของแต่ละคน เราช่วยกันโปรโมทเต็มที่ เหมือนเป็นเจ้าของกันทุกคน (หัวเราะ) แต่ยังไม่มีแผนจะทำอะไรด้วยกันแบบจริงจังนะคะ ตอนนี้ก็แต่ละคนทำสิ่งที่ตัวเองสนใจกันเป็นหลักไปก่อน แต่อย่างไรพวกเราก็ไม่ทิ้งใบหยกไปไหนแน่” สาวบุ้งกล่าวปิดท้าย

สะธี ใบหยก

พิมพ์เลิศ ใบหยก

Comments are closed.

Pin It