Celeb Online

เสพศิลป์งานสวนที่บ้าน จากไอเดียคนดัง


โครงการเทพา คอร์ทยาร์ด เออร์เบิร์น โฮม รามคำแหง 118 ทาวน์โฮม 3 ชั้นครึ่ง จัดงาน “เสพศิลป์หลังบ้าน สัมผัสบรรยากาศของ 3 สวน 3 สไตล์ จากศิลปินชั้นนำ” Dhepa Space Project : Garden Gallery เพื่อเป็นไอเดียสำหรับการดีไซน์สวนหลังบ้านแบบที่เป็นคุณ สอดคล้องกับการสร้างทาวน์โฮมแนวคิดใหม่ ที่ทำให้เจ้าของบ้านได้อิ่มเอมกับบรรยากาศสวนสวย Urban Courtyard ส่วนตัวได้ทุกวัน


เจรมัย พิทักษ์วงศ์ แห่งนิตยสารบ้านและสวน ร่วมทำสวนจากแนวคิดของการนำเอาสาระและหลักการต่างๆ จากคอลัมน์จัดสวนในบ้านและสวนมาใช้ เกิดเป็นสวนที่สวยร่มรื่น ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าและต้นไม้ชนิดต่างๆ อยู่รวมกันได้แบบยั่งยืน ให้สวนเต็มไปด้วยพืชสมุนไพร และพรรณไม้นานาชนิด ชื่อ Content Garden ผลงานสวนภายใต้แนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน เทคนิคผสมผสานพรรณไม้สร้างสภาพแวดล้อม


“สวนของผมอยู่ภายใต้แนวคิดที่นิยมไปทั่วโลก “เพอร์มาคัลเจอร์” (Permaculture) หรือการออกแบบสวนให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ใช้พันธุ์ไม้ถึง 6 ระดับ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก ไม้คลุมดิน ไม้หัว และไม้เลื้อย เพื่อจำลองรูปแบของระบบนิเวศตามธรรมชาติ มีคีย์โฮล (Keyhole) ซึ่งเป็นแปลงผักที่มีท่อตรงกลางสำหรับใส่เศษอาหารในครัวเรือนลงไปให้เปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมักเป็นสารอาหารคืนแก่ผักที่ปลูกในแปลง และยังช่วยประหยัดน้ำที่รดเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด มีซุ้มระแนงไม้เลื้อยสำหรับนั่งเล่นชมสวนหรือพักผ่อนได้ตลอดวัน”


สุริยะ อัมพันธศิริรัตน์ สถาปนิก และนักออกแบบภูมิทัศน์ แห่ง WALLLASIA เจ้าของรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2557 สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ออกแบบสวนในชื่อ Gallery ดอกไม้กินได้ ให้พื้นที่ส่วนตัวที่ปรับเปลี่ยนได้ เทคนิค ศิลปะกับการเกษตร Art+Agriculture = artgriculture เผยว่า 

“ผมจัดสวนนี้จากแนวคิดสวนสวยกินได้หลังบ้าน คิดว่าเมื่อศิลปะและการทำเกษตรขนาดจิ๋วมาหลอมรวมกันบนความแตกต่างแบบหยิงหยาง เหล็กสนิม และดอกไม้กินได้หลากสีนานาพรรณ สามารถสร้างสรรค์เป็นเมนูอร่อยตลอดปี ทั้งเป็นสมุนไพรยาดีช่วยรักษาร่างกายให้แข็งแรง ท่ามกลางความร่มรื่นภายใต้ร่มเงาของกลุ่มต้นสะเดา อิสระบนพื้นที่ที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามกิจกรรมที่หลากหลายของคนในบ้านอย่างอบอุ่น ด้วยเส้นสายที่ต่อเนื่องมาจากรูปแบบของตัวบ้าน พร้อมเก้าอี้เหล็ก magpie (นกกางเขนสีขาวดำ) สัญลักษณ์แห่งความประทับใจที่ศิลปินมีต่อนกกางเขนตัวหนึ่งที่ชอบมาเล่นน้ำในช่วงบ่าย ณ สวนคอร์ตกลางออฟฟิศวอลลาเซียอยู่เป็นประจำ อีกทั้งกระทะน้ำหยดที่เพิ่มความชุ่มชื้น และเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเป็นแหล่งน้ำให้นกมาแวะพักดื่มน้ำในช่วงบ่าย กับปลาหางนกยูงที่ว่ายอย่างสนุกสนาน และยังช่วยตัดวงจรของยุงอีกด้วย”


สกุล อินทกุล เจ้าของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ออกแบบผลงาน “แบล็กสไปเดอร์ลิลลี” (Black Spider Lily) ประติมากรรมโลหะ พร้อมงานออกแบบสวนและงานออกแบบองค์ประกอบ สภาพแวดล้อมโดยรอบ เทคนิคงานตัดเชื่อมโลหะ


“สวนของผมมีแนวคิดจากดอกพลับพลึง กทม. หรือดอกพลับพลึงตีนเป็ด แม้จะเป็นดอกไม้ที่เห็นอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความประทับใจในรูปทรงที่สง่างามของดอกไม้สีขาวนี้ จึงได้นำความประทับใจนั้นมารังสรรค์ให้เกิดเป็นงานประติมากรรมโลหะขนาดใหญ่ที่มีความสง่างามน่าประทับใจ”