Art Eye View

สำรวจพัฒนาการของงานหัตถกรรมไทยใน นิทรรศการ Pop-Artisan

Pinterest LinkedIn Tumblr


101 True Digital Park พื้นที่ความสุขแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ พาทุกท่านไปร่วมสำรวจพัฒนาการของงานหัตถกรรมไทยในรูปแบบสมัยใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน กับเทศกาล 101 กรีนเกินร้อย (Sustainable Fest) ตอน Pop-Artisan นิทรรศการ “แปลง+สาน+งานหัตถกรรม” ผ่านมุมมองของ ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบและศิลปินไทยมากฝีมือ

นิทรรศการ Pop-Artisan ว่าด้วยการใช้งานออกแบบเข้ามาเพิ่มมูลค่าของงานหัตถกรรมที่ผลิตจากชุมชนต่างๆ ทั่วภูมิภาคของไทยในแบบฉบับของ “ศรัณย์ เย็นปัญญา” นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง “56thStudio” รูปแบบของนิทรรศการจึงเป็นส่วนผสมของโรงรับจำนำ ร้านขายของเก่า รถซาเล้ง และโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ที่ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกกระบวนท่า ตั้งแต่การเอาของเก่ามาแลกของใหม่ การชุบชีวิตให้กับขยะหรือของทั่วไปที่คนมองข้าม จนไปถึงการแปรรูปงานหัตถกรรมที่ผลิตขึ้นจากความร่วมมือของช่างฝีมือระดับครูจากทั่วประเทศ


การพัฒนาสินค้าจากชุมชนอย่างยั่งยืนถือเป็นโจทย์หลักในการออกแบบ และพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ๆ ซึ่งในนิทรรศการนี้นำเสนอรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ และของแต่งบ้านที่ใช้วัสดุท้องถิ่น มารื้อ ถอน ปู้ยี่ปู้ยำ และประกอบกลับเข้าไปใหม่ ในแบบที่สนุกสนานราวกับเป็นงานศิลปะแบบ Pop Art สไตล์ไทยๆ เช่น เสื่อจันทบูร หรือเสื่อกกจากภาคอีสาน ที่ถูกปักทับด้วยลวดลายกราฟฟิกเฟี้ยวฟ้าว แล้วเอาไปใช้เป็นวัสดุหุ้มเบาะเก้าอี้โรงเตี๊ยมที่คุ้นตา หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ถูกทิ้ง และ/หรือเป็นของค้างสต๊อคจากร้านขายของเก่าก็ถูกจับมาแต่งตัวใหม่ด้วยลวดลายที่แปลกตา

ภายในนิทรรศการจะถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวดังต่อไปนี้

1. ประกอบ (Assemble)
เก้าอี้ก๋วยเตี๋ยว หรือเก้าอี้ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเก้าอี้เหล็กราคาถูกที่นิยมใช้ตามร้านก๋วยเตี๋ยวข้างถนนทั่วๆ ไป จะถูกนำมาจัดแสดงทั้งหมดกว่าร้อยตัวในแบบที่ยังไม่ถูกประกอบขึ้นมาเป็นเก้าอี้ที่สมบูรณ์ แต่ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถเลือกที่จะนำเอาโครงเก้าอี้ และเบาะที่ผลิตจากวัสดุท้องถิ่นทั้งหมดมาประกอบขึ้นมาเป็นเก้าอี้ของตัวเองได้ทุกอณู ผลลัพธ์คือเก้าอี้ที่มีแค่หนึ่งเดียวในโลกซึ่งถูกเลือกสรร และประกอบขึ้นมาจากความต้องการของคนดูล้วนๆ

2. ชุบชีวิต (Revive)
เก้าอี้เก่า หรือเก้าอี้วินเทจที่ค้างสต๊อค ขายไม่ออก หรือถูกทิ้งแล้ว ถูกนำมารื้อ และประกอบเข้าไปใหม่ เปรียบเสมือนการชุบชีวิตให้กับของที่คนเคยมองข้าม ลดปริมาณขยะ ให้กลายเป็นงานศิลปะหายาก และเต็มไปด้วยคุณค่าของงานฝีมือ

3. แลกเปลี่ยน (Exchange)
กองเก้าอี้โรงเตี๊ยมที่คุ้นตาถูกดัดแปลงให้กลายเป็นงานศิลปะจัดวาง หรือ Installation Art ซึ่งคนดูสามารถเลือกเอาเก้าอี้ชนิดนี้มาถอดประกอบใหม่ หรือเปลี่ยนเบาะหุ้ม เพื่อให้เป็นงานชิ้นใหม่ได้ในนิทรรศการนี้เลยทันที ราวกับอยู่ในโรงรับจำนำหรือรถซาเล้งที่ยอมให้เกิดการแลกเปลี่ยนของเก่า และของใหม่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด หรือจะแบกเก้าอี้โรงเตี๊ยมเหลือใช้มาจากบ้านก็ไม่มีใครว่าเช่นกัน

4. กอบกู้ (Rebuild)
พื้นที่สีขาวว่างเปล่าเปรียบเสมือนกับผ้าใบดิบคือพื้นที่ที่จำลองเอากระบวนการผลิตเก้าอี้ในแบบของ 56thStudio มาให้ดูสดๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ ขั้นตอนการหุ้ม รื้อถอน ปัก ละเลงสี จนสำเร็จกลายเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ที่ชวนมอง

5. เชิดชู (Celebrate)
โต๊ะเก่า และเก้าอี้เก่าที่ผลิตขึ้นมาจากวัสดุที่ใช้แล้ว ถูกนำมาประกอบเข้ากับงานจักสานของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย กลายเป็นพื้นที่ที่คนดูสามารถเข้ามานั่ง สัมผัส และมีปฏิสัมพันธ์กับงานออกแบบ ไปจนถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ชมด้วยกันได้อย่างสนุกสนาน

6. บูชา (Worship)
เปรียบเสมือนห้องรับแขกที่ผู้ชมสามารถเข้ามานั่งนอนเอกเขนกได้ บนงานหัตถกรรมที่เลือกสรรมาจากทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีผลงานซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง 56thStudio กับร้านเย็บหมอนไหว้เจ้าเฮงเสงในย่านเจริญกรุงที่เปิดกิจการมากว่าร้อยปี โดยนำเอาเทคนิคการจับจีบเบาะด้วยมือ มาผสมผสานเข้ากับวัสดุ และวัตถุใหม่ๆ ที่คุ้นตา จนกลายเป็นงานศิลปะที่ไม่คุ้นตา

นิทรรศการ Pop-Artisan เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล 101 กรีนเกินร้อย Sustainable Fest ซึ่งจะเปิดให้เข้าชม
ทุกวันตั้งแต่วันที่ 21 – 30 มิถุนายน ที่ Glass House ชั้น 3 101 True Digital Park เวลา 10.00 – 22.00 น.

Comments are closed.

Pin It