เพราะเชื่อมั่นในโลกที่ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายและศรัทธาในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม Jim Thompson (จิม ทอมป์สัน) แบรนด์ไอคอนิกไลฟ์สไตล์ระดับโลกของเมืองไทย ประกาศเจตนารมย์ร่วมสนับสนุน “PRIDE Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศภายใต้แนวคิด “Beyond Gender” ดึง 3 อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังร่วมเป็นกระบอกเสียงชาว LGBTQIA+ กระตุ้นเตือนสังคมไทยและภาครัฐให้เปิดรับความหลากหลายที่ไม่ใช่แค่ฉากหน้า แต่ลงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต ตลอดจนสิทธิทางกฎหมายต่าง ๆ ให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ผู้คนทุกเพศสภาพสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเสมอภาคและมีความสุขอย่างแท้จริง
สาวเก่งชี้ปัญหาสิทธิ LGBT ผู้มีอำนาจต้อง “Take action” เพราะประชาชนผลักดันเยอะแล้ว ปุ้ย-ลลิตา เบศรภิญโญวงศ์ ตำแหน่ง Store Manager และ High Jewelry Expert แห่ง Bulgari Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งใน Role model ของคนทำงานสายแฟชั่นเมืองไทย เผยมุมมองการยอมรับชาว LGBTQIA+ โดยทั่วไปดีขึ้น เนื่องจากกระแส Globalization ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านที่ยังต้องรอลุ้นกันต่อไป
“ในเรื่องสิทธิของชาว LGBT บางคนอาจรู้สึกว่ามันพัฒนาช้าจัง บางอย่างควรจะมีได้แล้ว เช่น การทำงานในอาชีพ Traditional ซึ่งยังไม่เปิดกว้างจนทำให้ชาว LGBT เจออุปสรรคไม่น้อย เรื่องนี้ถูกชูประเด็นและผลักดันกันมานานมาก จนแทบจะสุดกำลังของภาคประชาชนแล้ว เหลือแต่กลุ่มผู้มีอำนาจระดับปกครองเท่านั้นที่ต้องผลักดันให้มันเกิดขึ้นได้จริง ๆ รวมไปถึงเรื่องคำนำหน้าชื่อ เราคิดถึงเพื่อนกลุ่ม Transgender ซึ่งต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศบ่อย ๆ คือเขาเปลี่ยนร่างกายหมดแล้วแต่หน้าพาสปอร์ตยังเป็นเพศกำเนิด ทำให้เกิดความลำบากในการเดินทาง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องของธุรกรรมบางอย่างที่ค่อนข้างสำคัญอีกหลายอย่าง ฉะนั้น การผลักดันเพื่อช่วยประชาชนในส่วนนี้น่าจะช่วยให้เราใช้ชีวิตกันได้อย่างปกติและง่ายขึ้นมาก” ปุ้ย-ลลิตา กล่าว
แต่สำหรับแนวคิดที่ว่า ถ้าโลกใบนี้ไม่มีการกำหนดเพศชาย-หญิง โดยถือว่าทุกคนเป็นมนุษย์หมด จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างไร ปุ้ย-ลลิตา ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “โดยคอนเซ็ปต์แล้วดี แต่ในบางสถานการณ์อาจจะเกิดผลกระทบได้ เช่น ถ้าคนนั้นเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุสาหัส การมีคำนำหน้าชื่อเพื่อจะระบุเพศกำเนิดของผู้ป่วยก็น่าจะมีความสำคัญอยู่ ส่วนตัวคิดว่า ไม่ควรที่จะไม่มีเลยหรือมีแบบจำกัด แต่ต้องหาจุดที่พอดีกับสังคมนั้น ๆ” ยูทูเบอร์สายสู้ชีวิต แนะสังคมไทยต้องเปิดรับให้ได้จริง อย่าแค่ยอมรับแบบผ่าน ๆ
อีกหนึ่งอินฟลูเอนเซอร์ชาว LGBTQIA+ ชื่อดัง บุญรอด อารีย์วงษ์ เจ้าของช่องยูทูป Poocao Channel ซึ่งเคยมีประสบการณ์ที่ไม่สู้ดีนักและต้องพบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตจากการบูลลี่และการเลือกปฏิบัติของคนรอบข้าง ได้เผยความในใจเกี่ยวกับการยอมรับกลุ่ม LGBTQIA+ ในเมืองไทยว่า “สังคมไทยเหมือนจะยอมรับได้ แต่ลึก ๆ อาจยังไม่ได้ยอมรับ เพราะเขาไม่ได้ตระหนักว่าคนทุกคนเท่ากัน แม้แต่นโยบายของภาครัฐก็ยังไม่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อ LGBTQIA+ อย่างชัดเจน”
อีกหนึ่งเรื่องที่บุญรอดกังวลอย่างมากคือเรื่องของการทำงาน “ต้องบอกว่ามีผลมาก ๆ ต่อการประกอบอาชีพ อย่างเรามีทั้งความบกพร่องทางด้านร่างกาย ยิ่งยากแบบทวีคูณ คือเราหางานทำยากมาก หลายบริษัทไม่รับเพราะเราเป็น LGBTQ+ และพิการด้วย เรารู้สึกว่าแบบมันไม่ควรเป็นอย่างนี้เพราะเรามีความสามารถ สังคมควรเปลี่ยนความคิดได้แล้ว เพราะทุกคนมีความสามารถไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือร่างกายแบบไหนก็ตาม เขาก็มีสิทธิได้ทำงานที่อยากทำ อย่างตอนที่เราไปสมัครงานแล้วเขาปฎิเสธ เขาให้เหตุผลว่าเพราะร่างกายแบบนี้และยังเป็น LGBTQ+ อีก”
ยูทูเบอร์สายสู้ชีวิตยังเผยถึงความฝันของชาว LGBTQIA+ ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งว่า “เราอยากเปิดโรงเรียนสอนโขนเพราะเราชอบรำ และอยากให้สังคมเปิดรับความหลากหลายทางเพศได้จริง ๆ เพราะความสามารถเป็นตัววัดคุณค่าที่แท้จริง เราควรดูที่ศักยภาพของคน ๆ นั้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด” บุญรอด กล่าว
สาวเลือดกรุ๊ปบีขวัญใจวัยรุ่นคนดัง อยากเห็น LGBTQIA+ มากขึ้นในกลุ่มนักการเมือง เผยคำนำหน้าชื่อไม่ใช่ข้อจำกัดอาชีพ เอิ้ก-ชาลิสา โชติจิรสถิตย์ สาวยูทูเบอร์ชื่อดังแห่งช่อง Chrrissa Chotijirasathit เจ้าของเพลงฮิตติดหูคนไทยอย่างเลือดกรุ๊ปบี ยอมรับสังคมไทยเริ่มเปิดกว้างกับชาว LGBTQIA+ แต่ก็ยังไม่มากพอ
“เหมือนว่าลูกคนอื่นเป็นได้นะ แต่ลูกฉันห้ามเป็น ดูสื่อแล้วเห็น LGBTQ+ ก็บอกว่าคนนั้นเขาเก่งนะ แต่ถ้าลูกตัวเองก็ยังไม่อยากให้เป็น อารมณ์ประมาณนั้น” เอิ้ก-ชาลิสา กล่าว “ส่วนตัวอยากเห็น LGBTQ+ ในบริบท ครู นักการเมือง หรือนักกีฬา ให้มากขึ้น เพราะทุกพื้นที่มีชาว LGBTQ+ อยู่แล้ว อยากให้สังคมดูคนที่ความสามารถ โดยไม่ต้องดูเพศสภาพหรือคำนำหน้าชื่อ เพราะสุดท้ายแล้วคนเราจะเก่ง มันไม่ใช่ว่าเป็นเพราะนายหรือนางสาว แต่มันอยู่ที่ตัวคนและผลงาน คือต้องยอมรับว่าคน ๆ นี้เก่ง โดยไม่ต้องผูกกับคำว่านายและนางสาว เพราะจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้สำคัญอะไร”
กับธีม “Beyond Gender” สาวเอิ้กได้ให้นิยามว่า “คนส่วนใหญ่คิดว่า LGBTQ+ หรือสาวประเภทสองจะต้องตลก นี่เคยไปสัมภาษณ์งานแล้วเขาถามว่าทำไมถึงไม่ไปสมัครนางโชว์ อ้าว คือจะบอกว่าการเป็นนางโชว์มันไม่ใช่ว่าตื่นมาเป็นกะเทยปุ๊บ พรุ่งนี้ไปเต้นได้เลย มันไม่ใช่ คือมันอยู่ที่ความชอบของแต่ละคนว่าจริง ๆ ใครอยากทำอะไร ชอบอะไร อันนี้แหละสิ่งที่มองว่าเป็นคุณค่าที่ Beyond Gender จริง ๆ”
Comments are closed.