Art Eye View

พ่อมอบ “แก้วสารพัดนึก” อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์

Pinterest LinkedIn Tumblr


ART EYE VIEW —“อ้อมแก้วแหวนแสนเมืองมา” ชื่อเรือในสมัยอยุธยา ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อลูกสาวคนที่สอง ของจิตรกรกวี อังคาร กัลยาณพงศ์ ที่ขณะนี้ร่างไร้ชีวิตของเขายังถูกเก็บรักษาอยู่ที่ วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน เพื่อรอการพระราชทานเพลิงศพในปลายเดือนมกราคม ที่กำลังจะมาถึง

ระหว่างนี้ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ หรือ ขวัญ และสมาชิกคนอื่นๆของครอบครัว จึงยังคงยุ่งอยู่กับการเตรียมงานใหญ่ของพ่อ แต่สิ่งที่ทำให้เธอต้องเหนื่อยและหนักใจ กลับเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับผลงานของพ่อ

เพราะหลังจากที่อังคารเสียชีวิต ได้มีคนจำนวนหนึ่ง นำผลงาน โดยเฉพาะในส่วนของงานทางด้านจิตรกรรมที่พวกเขามีสะสมไว้ไปจำหน่าย โดยการอ้างกับผู้ถูกเสนอขายในทำนองว่า “ครอบครัวของท่านอังคารกำลังเดือดร้อน ต้องการใช้เงิน” บ้างก็นำผลงานไปจัดแสดง แล้วอ้างว่า จะนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายไปมอบให้ กองทุนท่านอังคาร

เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ร้อนถึงอ้อมแก้วในฐานะทายาท ต้องออกมาชี้แจงเพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้น นำครอบครัวของเธอไปอ้างเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง และสมาชิกครอบครัวทุกคน ก็รู้สึกไม่สบายใจนัก หากคนที่ถูกเสนอขาย ต้องจำใจซื้อผลงานของพ่อไป โดยที่ไม่มีความชื่นชอบหรือเต็มใจ แต่ต้องจำใจช่วยเหลือ ตามเหตุผลที่นักฉวยโอกาสเหล่านั้นนำไปอ้าง

“จริงๆแล้ว ครอบครัวเราไม่ได้เดือดร้อนแบบต้องไปเร่ขายรูป ผลงานศิลปะที่เขานำไปเสนอขาย มันก็คือผลงานชิ้นจริงนั่นแหล่ะ อาจจะเป็นผลงานในส่วนที่เขามีสะสมไว้อยู่ก่อนแล้ว หรืออาจจะซื้อมาจากอาร์ตดีลเลอร์อีกทอดหนึ่ง แล้วนำไปขายอัพราคา โดยการอ้างว่าครอบครัวเรากำลังเดือดร้อน

แล้วก็มีอีกส่วนหนึ่ง นำไปขายแล้ว แล้วอ้างว่าจะนำเงินส่วนหนึ่งไปสมทบกองทุนท่านอังคาร เราไปเห็นกับตาเลยว่าคุณขายอยู่ แต่ลับหลังพอเสร็จงาน ไม่เห็นมีเงินตกมาที่กองทุนเลย อะไรอย่างนี้ มีเยอะมาก

ดังนั้น เพื่อป้องกันความสับสน เรื่องของกองทุนด้วยว่า จริงๆแล้วกองทุนของคุณพ่อมีกองทุนเดียว คือ กองทุนเพื่ออังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งครอบครัวเราเป็นคนบริหารจัดการเอง ไม่อยากให้หลายๆคนเกิดความเข้าใจผิด และถูกเรี่ยไรเงิน เพราะเชื่อว่าคนเหล่านั้นจะนำไปสมทบกองทุนของคุณพ่อ

เราไม่สามารถไปตามเก็บตามเช็ดได้หมดจริงๆ ไม่สามารถไปตรวจสอบข้อมูลได้ว่า มีใครที่จะมาแอบอ้างเราได้อีกบ้าง เหมือนเขาก็ทำของเขาได้โดยที่มันเป็นมุมมืดของเขา บางครั้งอาจจะไม่เข้าหูเรา”

ในบรรดานักฉวยโอกาส เธอบอกว่ามีทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จัก หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จึงทำให้ครอบครัวของเธอต้องมีระยะห่างที่เหมาะสมกับคน เหล่าน้น

“คงต้องวางตัวให้เหมาะสม พยายามเข้าใจธรรมชาติของคนว่า คงมีความโลภ มีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด คงต้องให้อภัยในส่วนที่เราสามารถให้ได้ แต่เราก็ต้องป้องกันตัวเองด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ขวัญก็เลยพยายามที่จะเข้ามาดูแลผลงานของคุณพ่อ

ในวงการศิลปะ มันก็เป็นเรื่องปกติที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลงาน ทั้งของศิลปินที่มีชีวิตอยู่ และเสียชีวิตไปแล้ว เป็นเรื่องธุรกิจ ตรงนี้ขวัญเข้าใจ แต่ว่าการไปแอบอ้างในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องจริง อยากให้ช่วยมีจิตสำนึกนิดนึง ถามว่าจะไปเตือนให้เขามีจิตสำนึกไหม ก็คงไม่ใช่เรื่องเพราะ เป็นเรื่องของเขาเอง แต่อยากให้เห็นใจกันบ้าง

เราก็ทำหน้าที่ในส่วนของเรา คุณก็ควรจะทำหน้าที่ในส่วนของคุณ ให้ความถูกต้องมันดำเนินไปในเส้นทางของเราทั้งคู่ อย่าแอบอ้างกันเลย หรือว่าอย่านึกถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าความเหมาะสม หรือว่าคำนึงถึงความรู้สึกของครอบครัวเราบ้าง มันเป็นเรื่องที่คุณควรนึกถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะสุดท้ายคนเรา ตายไปแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้”

อ้อมแก้ว ร่ำเรียนมาทางด้านกราฟิกดีไซน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเรียนต่อปริญญาโท ด้านบริหารจัดการวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความตั้งใจที่จะนำความรู้ มาดูแลผลงานของพ่อโดยตรง

“ศิลปินไทยอย่างที่ทราบว่า ถูกเอาเปรียบ เราก็ต้องการเรียนหลายๆด้าน อยากมีความรู้ในหลายๆมุมมอง เพื่อที่จะมาช่วยเหลือ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

อีกอย่างเวลานี้ขวัญทำงานที่เกี่ยวกับวงการศิลปะอยู่แล้ว ทำงานในด้านของการจัดการ นิทรรศการศิลปะ ทำให้เราได้นำความรู้มาใช้ตรงนี้ด้วย ไม่ใช่แค่กับงานของคุณพ่อ”

เธอยอมรับว่า นับตั้งแต่ผู้เป็นพ่อเสียชีวิต มีคนจำนวนหนึ่งที่มาติดต่อขอซื้อผลงานไปครอบครอง และทางครอบครัวก็ได้พิจารณาขายให้ไปตามความเหมาะสมสำหรับคนที่อยากจะได้ไปชื่นชมจริงๆ แต่ก็ไม่ได้ขายไปในราคาที่สูงนัก

“ เพราะ เราไม่ได้ตั้งใจว่า คุณพ่อเสีย แล้วจะขาย ทำให้เราไม่ได้คิดว่าจะต้องไปเรียกเงินสูงอะไร เราแค่ดูความเหมาะสม เช่น คนที่เขาต้องการ คนที่เราสนิทใจ ซึ่งก็มีทั้งที่เป็นนักสะสม และคนในวงการศิลปะ พิจารณาเป็นรายๆไป เพราะคุณแม่ตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ขาย อยากจะเก็บไว้ในมิวเซียมมากกว่า”

ตลอดมาทางครอบครัว,เครือข่ายศิลปิน ตลอดจนที่เคารพรักและนับถืออังคาร มีความพยายามที่จะสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมผลงานอย่างเป็นทางการมาโดยตลอด

“ผลงานที่คุณพ่อสร้าง ยังไงมันก็ไม่มีวันตาย มันร่วมสมัยอยู่แล้ว ตั้งใจว่าจะรวบรวมผลงานที่ยังคงมีอยู่ที่บ้าน ซึ่งมากอยู่เหมือนกัน เพื่อที่จะจัดตั้งเป็นมิวเซียมขึ้นมา เพราะเรามีตั้งแต่สมัยที่คุณพ่อยังเรียนอยู่ที่เพาะช่าง และศิลปากร

เบื้องต้นเราอยากจะรวบรวมข้อมูลทางด้านจิตรกรรม วรรณกรรม และสิ่งที่ของอ้างอิงต่างๆที่ เป็นแรงบันดาลใจให้คุณพ่อก่อน แม้แต่วัตถุโบราณสำคัญๆ ที่สะสมมา ตั้งแต่ครั้งที่ร่วมงานกับอาจารย์เฟื้อ

มันคือสิ่งที่ทางคุณแม่ ลูกๆ เพื่อนของคุณพ่อ เครือข่ายศิลปะที่รู้จักคุณพ่อ ลูกศิษย์ลูกหา ไม่อยากให้ผลงานที่คุณพ่อสร้างไว้ มันสูญหายไป และความคิดในการทำมิวเซียม จริงๆก็มีมานานแล้ว มีอยู่ช่วงนึงเมื่อหลายปีที่แล้ว เราเคยเปิดบ้านให้คนเข้าชม เพียงแต่ว่ามันเป็นที่อยู่อาศัยด้วย จึงทำให้มีความลำบากนิดนึงในการเข้าเยี่ยมชม

ในช่วงนี้ทางบ้านก็เลยจัดตั้งกองทุนขึ้นมาก่อน เพื่อที่จะใช้เวลาระหว่างนี้ รวบรวมผลงาน และรอการสนับจากรัฐบาลหรือเอกชน เพื่อจัดตั้งมิวเซียมขึ้นมา ให้มีมาตรฐาน มีความเหมาะสม จริงๆ วางแผนไว้ว่า มันควรจะเป็นการสร้างตัวอาคารขึ้นมาใหม่ เพื่อผลงานจะได้ไม่มาปะปนกับที่อยู่อาศัย ที่มันค่อนข้างมีความจำกัดในเรื่องของพื้นที่”

อย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อครั้งที่มีชีวิตอยู่ อังคารไม่ใช่ศิลปินผู้นิยมสะสมทรัพย์ มากกว่าผลงานที่ฝากไว้ให้ทายาทได้ดูแลต่อ ทรัพย์สินอื่นๆก็มีเพียงบ้านที่ย่านพระราม 9 และที่ดินอีกจำนวนหนึ่งทางภาคเหนือเท่านั้น

“คุณพ่อซื้อเพราะความชอบ ส่วนมากจะเป็นทางภาคเหนือ (พะเยาและเชียงราย) ท่านเคยคิดว่าจะไปตั้งมิวเซียมที่นั่น หรือทำที่อยู่อาศัย ไม่ได้ซื้อเพื่อเก็งกำไรอะไรเลย ซื้อเพราะว่าภูมิประเทศดี อากาศดี”

และสิ่งของนอกกายเหล่านี้ เทียบไม่ได้กับอริยทรัพย์ที่ทายาททุกคนได้รับติดตัว

“ความรู้ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ที่คุณพ่อให้ เป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ไม่จบไม่สิ้น ในสมอง ในหัวใจ เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าผลงานที่จับต้องได้ มันคืออริยทรัพย์ทางจิต ทางสมอง รวมถึงสิ่งที่คุณพ่อสอนบ่อยๆ บางทีนั่งอยู่โต๊ะอาหาร ก็มีพูดเรื่องปรัชญาแทรกเข้ามา ทำให้เราซึมซับตรงนี้มาจากคุณพ่อ ผ่านทางอารมณ์ ความรู้สึก คำพูดคำจา น่าจะมีค่ามากกว่างานวรรณกรรมและภาพเขียน ของพวกนั้นมันมีค่าอยู่แล้ว และมันไม่ใช่แค่ของๆเรา แต่เป็นของประเทศด้วย ของเยาวชน และคนรุ่นหลังในอนาคต ที่จะได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้”

เรื่องราวเกี่ยวกับ “แก้วสารพัดนึก” คืออีกหนึ่งสมบัติล้ำค่ำที่อ้อมแก้วบอกว่าได้รับมอบจากพ่อ

“คุณพ่อมักจะพูดถึงเรื่องของ แก้วสารพัดนึก ในตัวเรา ว่าแท้จริงมันมาจากความคิดของเรา เราอยากจะคิด อยากจะทำอะไร มันเป็นเรื่องของเรา เราคิดได้ เราจินตนาการได้ ไม่มีอะไรมีขีดจำกัด พ่อสอนหลายเรื่องมากเลย สอนให้แต่งโคลง สังเกตธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่มักจะสอนเรื่องของความคิดมากกว่า สอนให้ใช้ความคิดของเราให้เป็นแก้วสารพัดนึก”

เธอรู้สึกสบายใจที่ได้ทำหน้าที่ลูก จนวาระสุดท้ายของพ่อ

“เพราะว่าก่อนที่คุณพ่อจะเสีย ที่อยู่ในช่วงเข้าโรงพยาบาล เดือนนึง อาการคุณพ่อค่อนข้างหนักอยู่เหมือนกัน โรคแทรกซ้อนหลายโรค เป็นช่วงที่ร่างกายค่อนข้างหนัก อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราทำใจไว้แล้วระดับนึง แต่มันเป็นเวลาที่ได้ดูแลอย่างเต็มที่มากๆเลยใกล้ชิดมาก แทนพยาบาลส่วนตัว คือเราไม่ต้องใช้พยาบาลเลย ทั้งเช็ดตัว เช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว”

เพียงแต่ว่า ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ เธออยากจะมีโอกาสบันทึกภาพชีวิตของพ่อเก็บเอาไว้มากกว่าที่มีอยู่

ที่ผ่านมา ขวัญถ่ายภาพไว้เยอะมากๆ ทุกแง่มุม รวมทั้งมุมที่คนไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้มาก่อนว่าท่านอังคารก็มีมุมแบบนี้ด้วยวีดีโอก็ถ่ายเอาไว้ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ถ่ายเอาไว้เยอะ เท่าที่เราอยากได้ นั่นแหล่ะเป็นจุดที่เสียดาย”

และในวันพระราชทานเพลิงศพของอังคาร ในวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ.2556 จึงน่าจะเป็นวันที่เธอได้มีโอกาสบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อเก็บเอาไว้ให้มากอีก โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดซึ่งมีความผูกพันกับอังคาร ในช่วงแรกที่บ้านเกิดจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพ อ้อมแก้วขอใช้โอกาสนี้แจ้งมายังผู้ที่จะเดินทางร่วมงานด้วยว่า

“เราจะมีกิจกรรม ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นมา และจากนั้น 14.00 น.จะเป็นการแสดงฟ้อนรำจากอยุธยา ซึ่งมีความสวยงามมาก สมเด็จพระเทพฯ เสด็จประมาณ 16.00 น. พระราชทานดอกไม้จันทน์หน้าหีบศพ ประมาณ 17.00 น. ที่เมรุ วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 17 ส่วนก่อนหน้านั้น 1 วัน คือวันที่ 26 มกราคม จะมีการสวดพระอภิธรรมศพเวลา 19.00 น.

อยากจะแจ้งว่าในวันงาน เนื่องจากว่าพื้นที่วัดคับแคบ อยากจะขอความรบกวนท่านที่มาร่วมงานให้เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะแทกซี่ รถเมล์ หรือว่านั่งรถยนต์ส่วนตัวมาด้วยกัน”

คม ทองขาว ทีมช่างผู้อาสามาเป็นส่วนหนึ่งในการเนรมิตบรรยากาศ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ให้เป็นป่าหิมพานต์ว่า เพื่อเป็นการส่งวิญญาณ จิตรกรกวี อังคาร กัลยาณพงศ์ให้สมเกียรติว่า

“ เราอยากเห็นจักรวาลหิมพานต์ เกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งคือสิ่งที่ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ได้รับแรงบันดาลใจมาแสดงออกเป็นบทกวีก็ดี ภาพเขียนก็ดี ท่านได้รับแรงบันดาลใจจากความคิดโบราณอันนี้ เราก็เลยอยากจะนำเสนอความคิดตัวนี้ ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา ในงานศพ

และเพื่อที่จะสืบต่อ ส่งต่อรากของไทยไปสู่คนร่วมสมัย ให้คนรุ่นใหม่ให้ได้เห็น ความงดงามตรงนี้ จะได้มีความงดงามอยู่ในหัวใจ จะได้มองโลกสวยงาม จรรโลงประเทศไทยให้สวยงาม

ดังนั้นบรรดาตัวกนก หงสา กินรี สัตบริภัณฑ์ต่างๆ เขาพระสุเมรุ ฯลฯ จะมาปรากฎอยู่ในวันพระราชทานเพลิงศพ ของท่านอังคาร”


ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซคชั่น Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art เซคชั่น Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]

Comments are closed.

Pin It