>>>คอลัมน์ : 108-1000 – ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้ดิฉันอยากจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ เกาะตาฮิติ (Tahiti) ดินแดนอันแสนงดงามที่สร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้กับ ปอล โกแกง (Paul Gauguin) ศิลปินเอกของโลก ให้ทุกท่านได้อ่านเล่น
ก่อนอื่นต้องขอแนะนำให้ท่านรู้จักศิลปินเอกของเราก่อนสักเล็กน้อย ปอล โกแกง (รูปที่ 1) เป็นจิตรกรชาวฝรั่งเศส เขาเกิดที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1848 และเสียชีวิตบนเกาะอะโทนา (Atuona) ในหมู่เกาะมาร์เควซัส (Marquesas Islands) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1903
โกแกงเป็นหนึ่งในศิลปินแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของประเทศฝรั่งเศส ผู้ปฏิวัติวงการศิลปะของโลก ผลงานสร้างสรรค์ของโกแกงแหกกฎประเพณีเช่นเดียวกับวิถีชีวิตของเขา โกแกงทิ้งอาชีพนายหน้าค้าหุ้นที่กำลังรุ่งโรจน์และชีวิตอันหรูหราร่ำรวยในวัย 35 ปีเพื่ออุทิศตนให้กับการเขียนภาพจิตรกรรมที่เขารักและทุ่มเทอย่างแท้จริงแต่อย่างเดียว โกแกงเริ่มเขียนภาพในรูปแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ ต่อมาได้คลี่คลายเป็นรูปแบบโพสอิมเพรสชั่นนิสม์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
เกาะตาฮิติเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะโซไซตี้ (Society Islands) ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ (รูปที่ 2) มีนครหลวงชื่อเพพีท (Papeete) ซามูเอล วอลลิส (Samuel Wallis) เป็นผู้ค้นพบเกาะตาฮิติเป็นคนแรกเมื่อปี ค.ศ. 1767 เกาะตาฮิติเป็นเกาะที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ภูมิประเทศของเกาะประกอบไปด้วยภูเขาและที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ ยอดเขาที่สูงที่สุดของเกาะมีความสูงถึง 2,237 เมตร รอบเกาะมีแนวปะการังล้อมรอบ ภายในทะเลสาบเต็มไปด้วยฝูงปลาสีสันสดใสแหวกว่ายไปมาอย่างสวยงาม
ต่อมาในปี ค.ศ. 1769 กัปตันเจมส์ คุก (James Cook / รูปที่ 3) ชาวอังกฤษ ได้เดินเรือมายังเกาะตาฮิติโดยเรือเดินทะเลชื่อ เอ็นเดเวอร์ (Endeavour) และได้เขียนแผนที่แสดงภูมิประเทศของเกาะไว้ด้วย (รูปที่ 4) ความเป็นอยู่อย่างสงบสุขและภูมิประเทศอันงดงาม ตลอดจนการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สนุกสนานรื่นเริง และการรักใคร่กันอย่างอิสรเสรีของหนุ่มสาวชาวเกาะ สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ลูกเรือของกัปตันคุกจึงปฏิเสธที่จะเดินทางต่อ ทำให้กัปตันคุกต้องจับหัวหน้าเผ่าของชาวตาฮิติเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้ลูกเรือของตนขึ้นเรือในทางอ้อม
เหตุการณ์เช่นนี้เกิดซ้ำขึ้นอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 1789 และร้ายแรงจนถึงขั้นเกิดกบฏขึ้นบนเรือเบาน์ตี (Bounty) พวกกบฏบังคับให้กัปตันไบล (Bligh) และพรรคพวกลงเรือบด แล้วจึงปล่อยเรือลงกลางทะเล (รูปที่ 5) ส่วนลูกเรือที่เหลือก็แล่นเรือกลับไปยังเกาะตาฮิติเพื่อใช้ชีวิตอยู่กินกับหญิงสาวชาวพื้นเมืองที่นั่น ต่อมาคนกลุ่มนี้และครอบครัวได้หนีภัยจากการจับกุมตัวของรัฐบาลอังกฤษไปตั้งรกรากบนเกาะพีทแคน (Pitcairn) ซึ่งเป็นเกาะร้างที่ยังไม่ถูกค้นพบและอยู่ห่างจากเกาะตาฮิติไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หลายร้อยไมล์ พวกเขาได้ตั้งสวรรค์น้อยๆ บนดินของตนบนเกาะแห่งนั้นจนสิ้นชีวิต
เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงเสน่ห์ดึงดูดใจของเกาะตาฮิติ ที่มีมนต์ขลังมัดใจผู้มาเยือนมิให้กลับคืนยังถิ่นฐานเดิมของตน เช่นเดียวกับโกแกงที่หวังจะพบกับสวรรค์บนดินของเขาบนเกาะตาฮิติเช่นกัน ดังข้อความตอนหนึ่งในจดหมายที่โกแกงเขียนถึงเพื่อนคนหนึ่งความว่า
“ฉันกำลังเดินทางไปยังเกาะตาฮิติ และหวังจะใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต”
การตัดสินใจเช่นนั้นของโกแกงน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ตาฮิติอยู่ห่างไกลจากกรุงปารีสมาก และที่สำคัญที่สุดคือคำเล่าลือเกี่ยวกับความงดงามอย่างมหัศจรรย์ของเกาะนี้ (รูปที่ 6) ซึ่งสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับผู้ฟังเป็นอย่างมาก
วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1891 โกแกงออกเดินทางจากท่าเรือมาร์เซยย์ (Marseilles) ของฝรั่งเศสไปยังเกาะตาฮิติ อาณานิคมของฝรั่งเศส พร้อมกับความฝันสวยหรูและความหวังอันเต็มเปี่ยม ถึงแม้ขณะนั้นที่เพพีท นครหลวงของตาฮิติ จะถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่อย่างตะวันตกก็ตาม (รูปที่ 7) แต่โกแกงก็ยังพบกับเสน่ห์อันรัดรึงใจของตาฮิติในหมู่บ้านชนบทรอบนอกนครหลวงของเกาะ (รูปที่ 8)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1893 เมื่อโกแกงไม่มีเงินติดกระเป๋าแม้แต่เก๊เดียว เขาจึงต้องจำใจด้านหน้าขอร้องให้รัฐบาลส่งตัวเขากลับบ้านที่ฝรั่งเศส แต่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1895 มนต์เสน่ห์แห่งตาฮิติก็โบกมือเรียกให้โกแกงหวนคืนกลับไปยังที่นั่นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา
ถึงแม้ว่าโกแกงจะต้องใช้ชีวิตอย่างอดมื้อกินมื้อ ต้องทนทรมานจากโรคซิฟิลิส และถึงกับกินยาฆ่าตัวตายอันเป็นผลมาจากอาการซึมเศร้าและเครียดจัดก็ตาม
แต่ 8 ปีสุดท้ายแห่งชีวิตของโกแกงบนเกาะในทะเลใต้คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของจิตรกรผู้นี้ หลังจากทนคลื่นเหียนกับสังคมผู้ดีจอมปลอมและหน้าไหว้หลังหลอกของพวกผิวขาวในอาณานิคม รวมทั้งอิทธิพลตะวันตกอันเลวร้ายที่ครอบงำวัฒนธรรมพื้นเมืองอันบริสุทธิ์งดงามอีกต่อไปไม่ไหว
ในปี ค.ศ. 1901 โกแกงจึงตัดสินใจเดินทางไปตั้งรกรากบนเกาะอะโทนาในหมู่เกาะมาร์เควซัส ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะตาฮิติไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1,200 กิโลเมตร และสร้างกระท่อมที่เขาตั้งชื่อว่า “เรือนแห่งความปีติ”
สีสันอันสดเข้มและรูปทรงที่หนักแน่นขององค์ประกอบภายในภาพของโกแกง สะท้อนความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินมากกว่าความเป็นจริงแห่งโลก วัฒนธรรมพื้นเมืองอันใสซื่อบริสุทธิ์และแปลกประหลาดของชนพื้นเมืองในหมู่เกาะทะเลใต้ สร้างความประทับใจให้กับโกแกงเป็นอย่างมาก (รูปที่ 9) ประสบการณ์และความประทับใจที่โกแกงได้สัมผัสกับมนต์เสน่ห์แห่งดินแดนและชาวพื้นเมืองบนเกาะทะเลใต้ สื่อสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนผ่านสีสันอันสดเข้มในภาพจิตรกรรมของเขา (รูปที่ 10)
เอกลักษณ์ของภาพเขียนยุคทะเลใต้ของโกแกงคือการเน้นความเป็นสองมิติของภาพ ภาพเขียนของโกแกงจะมีลักษณะแบนๆ ไม่แสดงปริมาตรและมิติ การจัดวางองค์ประกอบจะซ้ำๆ กันคล้ายกับภาพในแถบลวดลาย การจัดวางท่าทางและการเคลื่อนไหวของบุคคลค่อนข้างแข็งทื่อและเป็นแบบแผนคล้ายกับ ภาพจิตรกรรมของอียิปต์ (รูปที่ 11) เช่น ภาพตลาด (รูปที่ 12)
เทคนิคการเขียนภาพแนวหลังอิมเพรสชั่นนิสม์ของโกแกงจะต่างจากภาพของศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ ที่เขียนภาพแบบทิ้งฝีแปรงด้วยการเขียนแถบสีเป็นปื้นยาวบ้าง สั้นบ้าง หรือเขียนเป็นปื้นกลมๆ บ้าง แต่โกแกงจะเน้นความเป็นสองมิติของภาพด้วยการระบายสีสดเข้มแบบเกลี่ยเรียบเป็นส่วนๆ
ความยากจนทำให้บางครั้งโกแกงจำต้องใช้ถุงผ้าฝ้ายหยาบๆ ที่ใช้ใส่สินค้าแทนผ้าใบในการเขียนภาพ และต้องใช้สีอย่างประหยัดด้วยการระบายสีบางๆ เพียงชั้นเดียว
ม้าสีขาว (รูปที่ 13) เป็นภาพม้าสีขาวกำลังยืนดื่มน้ำอยู่ในลำธารสีน้ำเงินเข้มที่มีแสงสะท้อนสีส้ม ภาพชายหนุ่มเปลือยกายขี่ม้าโดยไม่มีบังเหียนในป่าเปลี่ยวที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าสีเขียวหม่นในเขตมรสุม สะท้อนให้เห็นภาพสวรรค์บนดินในจินตนาการของศิลปิน ดินแดนที่มนุษย์และธรรมชาติได้หล่อหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
สองสาวชาวตาฮิติ (รูปที่ 14) เป็นภาพหญิงสาวชาวเกาะตาฮิติสองคนกำลังกลับมาจากการเก็บดอกไม้ป่า ถึงแม้ว่าโกแกงจะเขียนภาพนี้ในขณะที่กำลังป่วยหนักก็ตาม แต่ภาพนี้กลับสะท้อนความอ่อนหวานละมุนละไมของเส้นและสี ตลอดจนการสอดประสานอย่างกลมกลืนกันระหว่างความสงบในธรรมชาติและความอ่อนหวานน่ารักของสตรีวัยแรกรุ่นออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน
โกแกงมุ่งมั่นในการแสวงหาอิสระในการใช้ชีวิตและการสร้างสรรค์งานศิลปะจนกระทั่งทำให้ตัวเองกลายเป็นเหมือนคนต่อต้านสังคม ดังจะเห็นได้จากบันทึกของบิชอปประจำท้องที่ในหมู่เกาะทะเลใต้ท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงโกแกงหลังจากเขาเสียชีวิตว่า
“เหตุการณ์เดียวซึ่งขึ้นเกิดที่นี่ ที่น่าจะกล่าวถึง คือความตายอย่างกะทันหันของบุคคลผู้หนึ่ง ที่สมควรได้รับการเหยียดหยาม นามว่า โกแกง ศิลปินผู้ทรงเกียรติ แต่เป็นศัตรูของพระผู้เป็นเจ้า”
ในช่วง 2-3 ปีสุดท้ายของชีวิต โกแกงต้องจมอยู่กับความยากจนข้นแค้นและความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยบนเกาะในทะเลใต้ เขาเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและถูกหลงลืมไปชั่วระยะหนึ่ง ปัจจุบันคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธข้อความในจดหมายฉบับหนึ่งที่โกแกงเขียนถึงภรรยาของเขาความว่า
“ฉันรู้ดีว่า ฉันเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ และเพราะฉันเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ฉันจึงต้องทนกับความทุกข์ทรมานมากเช่นนี้”
หมายเหตุ: ชื่อเฉพาะภาษาต่างประเทศในบทความนี้สะกดตามคำอ่านในภาษานั้นๆ
เรียนรู้ศัพท์ศิลปะกับ 108-1000-ศิลป์
Post-Impressionism ศิลปะยุคหลังอิมเพรสชั่นนิสม์ เป็นกระแสต่อต้านการสร้างงานศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ เคลื่อนไหวในประเทศฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. 1880-1905 โดยแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์อันรุนแรงด้วยรูปทรงและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่นผลงานของ Vincent van Gogh และ Paul Gauguin เป็นต้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมุ่งแสวงหาและพัฒนาโครงสร้างขององค์ประกอบภาพในงานจิตรกรรมด้วยสีสันและรูปทรงที่สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าการเขียนภาพแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ เช่น ผลงานของ Paul Cézanne และ Georges Seurat เป็นต้น
Impressionism อิมเพรสชั่นนิสม์ กระแสการสร้างงานศิลปะช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในประเทศฝรั่งเศส อันถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นศิลปะสมัยใหม่ของยุโรป ศิลปินกลุ่มนี้ต้องการถ่ายทอดความรู้สึกประทับใจของตนจากประสบการณ์ที่ได้จากการสังเกตบรรยากาศ สี และแสงในธรรมชาติอย่างฉับพลันทันใด
รู้จัก … รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน
จบมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และปริญญาตรี อักษรศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Art) (ภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม
จากนั้นจึงได้ไปศึกษาต่อยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่มหาวิทยาลัย Technische Universität Carolo-Wilhelmina แห่งเมือง Braunschweig จนจบหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (Magistra Artium)
ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาต่อจนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Doktors der Philosophie/Dr. Phil.) (ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก) ด้วยระดับ “magna cum laude” จากมหาวิทยาลัย Osnabrück แห่งเมือง Osnabrück
ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการหอศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2544 ได้รับทุนจากสถาบันเกอเธ่ ให้ไปเข้าร่วมการสัมมนาด้านวัฒนธรรม ณ เมือง Weimar และ Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมทั้งได้นำเอาผลงานศิลปะของศิลปินไทย 3 คน คือ ดำรง วงศ์อุปราช อภิชัย ภิรมย์รักษ์ และ เด่น หวานจริง ไปเผยแพร่ในรูปการจัดแสดงนิทรรศการเป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ณ Kunstverein Talstrasse แห่งเมือง Halle ด้วย
พ.ศ. 2545 ได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมัน (Deutscher Akademischer Austauschdienst/DAAD) ให้ไปศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ของทวีปยุโรป ณ กรุง Berlin ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นเวลา 3 เดือน
พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งประธานสภาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2548-2552 ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นอกจากงานประจำด้านการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ว ยังมีผลงานที่เป็นบทความทางวิชาการ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ที่พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และผลงานสร้างสรรค์ศิลปะที่แสดงร่วมกับคณาจารย์ในคณะอีกด้วย
ผลงานอื่นๆ ได้แก่ การแต่งตำราประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก การออกแบบหนังสือและสูจิบัตร การกำกับและจัดวางรูปแบบนิทรรศการศิลปะ และการจัดทำ (การกำกับ) VCD
เมื่อ พ.ศ.2549 เคยมีผลงานหนังสือ “ศิลปะคลาสสิก” ซึ่งแต่งขึ้น จากการศึกษาและค้นคว้าตำราต่างประเทศหลายสิบเล่มเป็นเวลานานกว่าสิบปี
และ พ.ศ.2552 รศ.ดร.กฤษณา มีผลงานหนังสือ “เผยความลับที่ไม่ลับ ของ รหัสลับดาวินชี” ออกมาเปิดโปง ความจริงที่ถูกปิดบัง ซ่อนเร้น และบิดเบือนอย่างมโหราฬ ใน รหัสลับดาวินชี (The Da Vinci Code) นวนิยายอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวนของ แดน บราวน์ ที่โด่งดังและขายดีที่สุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ART EYE VIEW เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ชมงานศิลปะ ด้วยเห็นว่า ความรู้ที่มี ไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่ ในรั้วสถาบันการศึกษา
ติดตามอ่าน …108-1000 – ศิลป์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน ได้ทุกอาทิตย์ ทาง ART EYE VIEW
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW เซกชัน Celeb Online www.astvmanager.com และ M-Art eye view เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.