ART EYE VIEW — ร่องรอยแห่งแรงปรารถนาบทภาวนาเพื่อดินแดนที่ถูกลืม (Trace of Dreams) คือนิทรรศการรวบรวมผลงานภาพถ่ายที่สะท้อนถึงความผูกพัน ความทรงจำและความหวังของผู้ลี้ภัยชาวทิเบตที่มีต่อดินแดนบ้านเกิดเมืองนอน ผ่านใบหน้าของผู้ลี้ภัยที่ร่วมกันสวดภาวนาอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์เพื่อปกปักษ์รักษาบ้านเกิดเมืองนอนที่ตนจากมา
ภาณุวัฒน์ จิตติวุฒิการ ช่างภาพวัย 30 ปี ผู้คว้ารางวัลด้านภาพถ่ายมาแล้วมากมาย บอกถึงแรงบันดาลใจ และวิธีการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายชุดนี้ของเขาว่า
“ผู้คนสวดภาวนาด้วยแรงปรารถนาโดยอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธ์เพื่อดลบันดาลให้ความฝันของตนเองเป็นจริง
ในภาพถ่ายชุดนี้ผมได้บันทึกใบหน้าของผู้ลี้ภัยชาวทิเบตที่หลบหนีออกจากดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนมากว่า 50 ปี ขณะเวลาที่ถ่ายภาพผมขอให้พวกเขาสวดภาวนาและนึกถึงสิ่งที่ตนเองปรารถนาโดยที่แทบทุกคนสวดภาวนาขอให้สิ่งศักดิ์สิทธ์ปกป้องรักษาบ้านเกิดเมืองนอนที่ตนจากมา
ผมเลือกใช้กระบวนการถ่ายภาพซ้อน(multiple exposure) เพื่อบันทึกช่วงเวลาแห่งการภาวนาโดยผมมีความเชื่อว่ากระบวนการถ่ายภาพซ้อนจะสามารถบันทึกบุคลิกร่วมของผู้ลี้ภัยที่ปรารถนาในสิ่งเดียวกันและแสดงออกให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณของผู้คนที่อาศัยอยู่ต่างที่ต่างเวลาแต่มีแรงปรารถนาเดียวกันได้”
“ร่องรอยแห่งแรงปรารถนาบทภาวนาเพื่อดินแดนที่ถูกลืม” เปิดแสดงให้ชมมาตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2557 ณ ห้องนิทรรศการPeople’s Gallery ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
ขณะที่งานเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม เวลา 17.00 น.
นอกจากนี้ภาพถ่ายยังถูกรวบรวมเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือ “ร่องรอยแห่งแรงปรารถนาบทภาวนาเพื่อดินแดนที่ถูกลืม” ชื่อเดียวกับนิทรรศการ
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เขียนบทวิจารณ์ให้กับหนังสือเล่มนี้ว่า
“ศิลปินได้พยายามทำให้เราได้สังเกตเห็นถึงแรงขับเคลื่อนบางอย่างที่เชื่อมโยงใบหน้าของผู้ภาวนาเข้าด้วยกันจนกระทั่งเราสามารถซึมซับรายละเอียดของร่องรอยอัตลักษณ์อันเบาบางที่ปรากฏบนทุกมิติทางกายภาพของงานได้
ใบหน้าที่เริ่มเลือนหายไปแต่กลับให้ความรู้สึกเรียบง่ายและเบาสบายเมื่อนั้นผลงานได้นำพาเราไปสู่การตระหนักรู้ถึงมิติทางจิตวิญญาณการเฝ้าสังเกต
เช่นนี้ต้องอาศัยความอดทนและสมาธิที่จดจ่ออย่างยิ่งเพื่อมุ่งเข้าถึง“จิตภายใน”ผ่านทาง“รูปกายภายนอก”และเมื่อใดที่เราละสายตาจากภาพภายนอกเข้ามาจับจ้องที่ภายในจิตตัวเองเมื่อนั้นเราจึงได้เข้าถึงสภาวะอันบริสุทธิ์ของความงามที่ไร้ขอบเขต”
ภาณุวัฒน์ เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2527 หลังจากจบการศึกษาด้านทัศนศิลป์และรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเมลเบอร์นประเทศออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ.2550 ได้เข้าร่วมแสดงงานนิทรรศการด้านศิลปะระดับนานาชาติและได้รับรางวัลมากมายโดยมีผลงานที่โดดเด่น อาทิ
พ.ศ.2552 ภาพถ่ายชุด SIEV X ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้ลี้ภัยชาวอิรักที่ถูกห้ามลี้ภัยในออสเตรเลียได้รับรางวัล The Art of Delivering Justice, National Award winning
พ.ศ.2544 “เพลงศพแห่งอันดามัน” ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์สึนามิได้รับรางวัล Yong Thai Artist Award
พ.ศ.2554 โครงการสารคดีชุด Sand Bag Panic ได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการของ Stream Photo Asia, Master Class Series
พ.ศ.2555 ผลงานชุด Trace of Dreams ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่าย Chang Photo Fine Art Contest,
พ.ศ.2556 ภาพถ่าย “เสียงฝน” ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ รางวัลภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 26 จากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากนั้น พ.ศ.2554 “รอยยิ้มพลัดถิ่น” รวมผลงานภาพถ่ายสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวทิเบตได้มีโอกาสจัดแสดงที่ Tibet House ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และเมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส
พ.ศ.2555 จัดนิทรรศการแสดงเดี่ยว Happiness beyond Measure ณ หอศิลป์จามจุรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และนอกเหนือจากการทำงานศิลปะ ภาณุวัฒน์ได้ร่วมทำงานกับมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ใน พ.ศ.2551 เพื่อทำโครงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวทิเบตในประเทศอินเดียเนปาลและภูฎาน
บทบันทึกจากการเดินทางของภาณุวัฒน์ เพื่อสร้่างสรรค์งานภาพถ่ายบอกถึงเหตุให้เร่งลงมือทำสิ่งที่รัก ก่อนจะสายเกินไปว่า
“ผมเริ่มต้นออกเดินทางถ่ายภาพเมื่อรู้ว่าตนเองกำลังสูญเสียการได้ยินและประสาทสัมผัสของดวงตาข้างซ้ายซึ่งกำลังเสื่อมลง
การถ่ายภาพดูจะเป็นหนทางเดียวที่ผมจะได้มีส่วนร่วมกับความงดงามของโลกใบนี้
ก่อนที่จะสายเกินไป ผมอยากมีภาพความทรงจำเกี่ยวกับโลกใบนี้ด้วยตัวผมเอง
ในช่วงแรกของการสูญเสียผมขาดความมั่นใจและกลัวที่จะยอมรับความจริงแต่เมื่อเริ่มออกเดินทางตัวคนเดียวผมค้นพบความสงบในจิตใจตนเอง
ในท่ามกลางผู้คนแปลกหน้า การเฝ้าสังเกตและสัมผัสผู้คน ทำให้ผมกล้าที่จะเปิดรับความจริงในชีวิตว่าชีวิตเราหนีความทุกข์ไม่พ้น ชีวิตผู้อื่นก็เช่นกัน
การที่ผมเริ่มเปิดใจสัมผัสความทุกของคนอื่นมากขึ้นและเริ่มคิดถึงความทุกข์ของตนเองน้อยลง แม้ในความเป็นจริงความเจ็บปวดจากการสูญเสียไม่เคยหายไป แต่เมื่อใดที่ความทุกข์มากระทบผมเรียนรู้ที่จะหันไปมองดูคนที่ทุกข์กว่าเรา เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราสามารถสัมผัสความทุกข์ของผู้อื่นได้เมื่อนั้นความทุกข์ในตัวเราก็เบาบางลง
ผมรู้สึกว่าชีวิตของเรานั้นผูกพันกับชีวิตของคนรอบข้างอย่างแยกจากกันไม่ออก เราเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่เชื่อมโยงเราไปสู่ชะตาชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหตุการณ์ใดก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้อื่น ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: [email protected]
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews
Comments are closed.